xs
xsm
sm
md
lg

ดาร์วินตกสำรวจ "อีกัวนาสีชมพู" เพิ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นสปีชีส์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาเบรียล เจนติเล โชว์ อีกัวนาสีชมพู ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เขาเพิ่งแยกแยะได้ว่ามันเป็นอีกัวนาสปีชีส์ใหม่ พบเฉพาะบนแถวภูเขาไฟวูลฟ์ หมู่เกาะกาลาปากอส (รอยเตอร์)
นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้น เห็นอีกัวนาสีชมพูบนหมู่เกาะกาลาปากอสมากว่า 20 ปี เพิ่งรู้ว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ และดำรงเผ่าพันธุ์มากว่า 5 ล้านปีแล้ว ขนาดดาร์วิน ที่บุกเบิกการสำรวเกาะเอง เมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังไม่เคยพบ นักวิจัยหวั่นสัตว์เลื้อยคลานโบราณจะสูญพันธุ์เพราะเหลืออยู่ไม่กี่สิบตัว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบอีกัวนาสีชมพู (Pink iguana) บนหมู่เกาะกาลาปากอส ตั้งแต่ปี 2529 แต่เพิ่งรู้ว่าเป็นอีกัวนาสปีชีส์ใหม่เมื่อไม่นานมานี้ จากการศึกษาวิจัยของ กาเบรียล เจนติเล (Gabriele Gentile) นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตอร์แวร์กาตา (University Tor Vergata) กรุงโรม อิตาลี ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ตามที่ระบุในรอยเตอร์

"เราไม่ใช่คณะแรก ที่พบเห็นอีกัวนาสีชมพู แต่เป็นกลุ่มแรกที่บอกได้ว่ามันเป็นสปีชีส์ใหม่" เจนติเล กล่าว ซึ่งอีกัวนาสีชมพูมีลำตัวยาวกว่า 1 เมตร และหนักราว 12 กิโลกรัม มีชื่อสปีชีส์ว่า โคโนโลฟัส โรซาดา (Conolophus rosada)

ทั้งนี้ บีบีซีนิวส์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเกาะ พบอีกัวนาสีชมพูครั้งแรกเมื่อปี 2529 บริเวณใกล้กับเนินภูเขาไปวูลฟ์ (Volcano Wolf) บนเกาะอิสซาเบลลา (Isabela) ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่เกาะกาลาปากอสที่มีกว่าร้อยเกาะ ทว่าในสมัยที่ชาร์ลส ดาร์วิน (Charls Darwin) เดินทางมาสำรวจหมู่เกาะกาลาปากอสพร้อมกับเรือหลวงบีเกิลเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน เขาไม่ได้มาสำรวจแถวภูเขาไฟวูลฟ์ ดาร์วินจึงพลาดอีกัวนาสีชมพูไปอย่างน่าเสียดาย

การค้นพบอีกัวนาสีชมพู ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนเกาะที่อยู่ห่างไกลอย่างกาลาปากอส ซึ่งดำรงอยู่มานานหลายล้านปีมาแล้ว และส่วนมากก็เป็นสปีชีส์ที่พบเฉพาะบนเกาะนี้เท่านั้น ซึ่งเจนติเลอธิบายว่าอีกัวนาสีชมพูที่พบบนเกาะกาลาปากอสในปัจจุบันนี้เป็นอีกัวนาที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์บนเกาะแห่งนี้

นักวิจัยวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของอีกัวนาสีชมพู พบว่ามันเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในกาลาปากอส และแยกสายวิวัฒนาการออกมาจากอีกัวนาชนิดอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อ 5 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่หมู่เกาะกาลาปากอสเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น

ทว่าเกาะอิสซาเบลลา อันถิ่นที่อยู่ปัจจุบันของอีกัวนาสีชมพูมีอายุไม่เกิน 5 แสนปี นักวิจัยสันนิษฐานว่า อีกัวนาสีชมพูเริ่มอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้กับภูเขาไฟแห่งหนึ่งเมื่อราว 3.5 แสนปีก่อน โดยขณะนั้นอาจมีพื้นเกาะบางส่วนยังเชื่อถึงกันเป็นทางให้อีกัวนาดังกล่าวข้ามไปได้ และอาศัยอยู่เฉพาะที่เกาะแห่งนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เจนติเลระบุด้วยว่าประชากรอีกัวนาสีชมพูนั้นมีเหลืออยู่จำนวนน้อยมาก เพราะในการสำรวจช่วง 2 ปีมานี้ พบอีกัวนาสีชมพูเพียง 36 ตัวเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสนับสนุนการอนุรักษ์เผ่าพันธุ์อีกัวนาสีชมพูให้ดำรงอยู่ต่อไปได้.
อีกัวนาสีชมพูหน้าตาชื่นบานบนหมู่เกาะกาลาปากอส (รอยเตอร์)
เปรียบเทียบอีกัวนาสีชมพู (บน) กับอีกัวนาเหลือง (ล่าง) ซึ่งเป็นอีกัวนาคนละสปีชีส์กัน (บีบีซีนิวส์)
อาจเป็นเพราะมีสีชมพูระเรื่อ เจ้าอีกัวนาสีชมพูเลยได้ชื่อสปีชีส์ว่า โรซาดา (Rosada) (เอพี)
อีกัวนาสีชมพูเต็มๆตัว แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบเหลือไม่กี่สิบตัวเท่านั้น น่าเป็นห่วงว่าจะสูญพันธุ์หากไม่เร่งอนุรักษ์อย่างจริงจัง (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น