xs
xsm
sm
md
lg

"กาการีน" แทงใจอเมริกันยังไง "อาร์มสตรอง" ก็ทิ่มใจรัสเซียอย่างนั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซอร์เก ครุชชอฟ ภายในห้องทำงาน (ไซแอนทิฟิกอเมริกัน)
"นาซา" ส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อ 40 ปีก่อน แล้วประเทศที่เป็นคู่แข่งด้านอวกาศในยุคสงครามเย็น อย่างโซเวียตมองอย่างไร ลองไปฟังความเห็นจาก "เซอร์กี ครุชเชฟ” ลูกชายอดีตผู้นำโซเวียตยุคนั้น

ในยุคของประธานาธิบดี นิกิตา ครุชเชฟ (Nikita Khrushchev) นั้นอดีตสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่ง "สปุตนิก 1" (Sputnik 1) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก ตามมาด้วยการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ ทำให้ จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งเป้าส่งคนไปดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกให้ได้ก่อนสิ้นทศวรรษ 1960

แล้วในวันที่ 20 ก.ค.2512 เป้าหมายดังกล่าวก็กลายเป็นจริงเมื่อ "นีล อาร์มสตรอง" (Niel Armstrong) และ "บัซ อัลดริน" (Buzz Aldrin) ลงไปเดินบนดวงจันทร์ได้ ท่ามกลางสายตาผู้คนกว่า 500 ล้านคู่ ที่รับชมเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์บนโลก

ไซแอนทิฟิกอเมริกันรายงานความเห็นของเซอร์เก ครุชชอฟ (Sergei Khrushchev) ลูกชายนิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตว่า การลงจอดบนดวงจันทร์ของสหรัฐฯ ได้ก่อนนั้น เป็นเหมือนความพ่ายแพ้ในการแ่ข่งขันด้านอวกาศ และความล้มเหลวหลังการส่งดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) และยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) นักบินอวกาศคนแรกขึ้นไป

ปัจุบันเซอร์เกในวัย 74 ปีทำงานอยู่ที่สถาบันเพื่อการศึกษานานาชาติวัตสัน (Watson Institute for International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ในพรอวิเดนซ์ สหรัฐฯ ซึ่งเขาได้ให้สัมภาษณ์กับไซแอนทิฟิกอเมริกัน ภายในห้องทำงานของเขาดังนี้

- คุณอยู่ที่ไหนตอนที่นีล อาร์มสตรอง และบัซ อัลดริน ลงจอดบนดวงจันทร์?

ผมจำได้ว่าการลงจอดดวงจันทร์ครั้งนั้นไปได้สวย ผมอายุ 34 แล้วตอนนั้น และกำลังอยู่ในช่วงหยุดยาวกับเพื่อนๆ ซึ่งทำงานในบริษัทด้านการออกแบบยานอวกาศ “เชโลมี” (Chelomei) และมีเจ้าหน้าที่จาก "เคจีบี" (KGB) อยู่ด้วย

ตอนนั้นเราอยู่ในยูเครนที่เชอร์โนบิล ซึ่งสถานที่สร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าทีเคจีบีเพิ่งกลับมาจากแอฟริกา แล้วนำกล้องโทรทรรศน์เล็กๆ กลับมาด้วย ดังนั้นเราจึงส่องด้วยกล้องโทรทรรศน์ แต่เราไม่เห็นการลงจอดดวงจันทร์เลย ดังนั้นมันจึงยังคงเป็นคำถามสำหรับเรา (หัวเราะ)

- ข่าวเกี่ยวกับการลงจอดบนดวงจันทร์ แพร่กระจายไปแค่ไหนในสหภาพโซเวียต ถึงความก้าวหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าว?

แน่นอนว่าเมื่อมีคนไปเยือนดวงจันทร์แล้ว คุณไม่สามารถพูดได้ว่าไม่มีอะไร เหตุการณ์นั้นถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่ถ้าหากคุณยังจำได้ ก่อนหน้านั้นชาวอเมริกันพูดกันถึงมนุษย์คนแรกในอวกาศ พวกเขามักพูดถึงชาวอเมริกันคนแรกในอวกาศ ไม่ใช่ ยูริ กาการิน ความรู้สึกเดียวกันนั้นแพร่กระจายไปในรัสเซีย การส่งยานอพอลโล 11 เป็นข่าวเล็กๆ จริงๆ แล้วเป็นหัวข้อเล็กๆ ในหน้า 1ของหนังสือพิมพ์ "พราฟดา" (Pravda) และมีอีก 3 คอลัมน์ในหน้า 5 ผมได้ค้นกลับมาอ่านอีกรอบ

- อารมณ์ในภายในโครงการอวกาศโซเวียตตอนนั้นเป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์อวกาศจากอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์?

มันคล้ายกันมากกับความรู้สึกของชาวอเมริกัน เมื่อกาการินขึ้นสู่วงโคจร บางคนพยายามที่จะไม่ใส่ใจเรื่องนี้ บางคนก็ถูกสบประมาท แต่ผมไม่คิดว่ามันจะส่งผลกระทบรุนแรงอะไร

อย่างแรกเลยโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต ก็ไม่ได้สร้างความรำคาญหรือให้ข้อมูลมากเกินไป ผมจำได้ว่าผมดูเอกสารเหล่านั้น มันไม่ใช่ความลับ แต่ก็ไม่เผยแพร่แก่สาธารณะ และชาวรัสเซียก็มีปัญหาในชีวิตประจำวันมากอยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่ได้ใส่ใจมากนักกับมนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์

- ตอนนั้นรัสเซียใกล้จะถึงเวลาสิ้นสุดหรือยัง?

ไม่คิดว่าชาวรัสเซียจะถึงเวลาสิ้นสุด ผมคิดว่ารัสเซียไม่มีโอกาสจะแซงหน้าชาวอเมริกันภายใต้การนำของเซอร์เก โคโรเลฟ (Sergei Korolev) และผู้สร้างความสำเร็จให้แก่เขา วาสิลี มิชิน (Vasili Mishin)

(ไซแอทิฟิกอเมริกันระบุว่า เซอร์เก โคโรเลฟคือผู้นำโครงการอวกาศของรัสเซีย และมิชินคือผู้พัฒนาจรวดที่ประสบความสำเร็จในการส่งสปุตนิก 1)

โคโรเลฟไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักออกแบบ แต่เป็นนักจัดการที่ชาญฉลาด ปัญหาของโคโรเลฟคือเรื่องจิตใจ บางครั้งเขาสนใจแต่จะใช้ยานนำส่ง "เอ็น 1" (N1) ที่เขามี ซึ่งออกแบบเมื่อปี 2501 ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่าง และมีความสามารถในการบรรทุกจำกัดเพียง 70 ตัน

ปรัชญาการทำงานของเขาคืออย่าทำงานเป็นขั้นตอน แต่ให้ประกอบทุกอย่างแล้วลองมัน และในท้ายที่สุดมันจะดีเอง มีความพยายามหลายครั้งและก็ล้มเหลวหลายครั้งกับยานนำส่งดวงจันทร์ "ลูนนิก" (Lunnik) การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์นั้นยากและซับซ้อนมากเกินกว่าจะทำได้ด้วยวิธีแบบนั้น ผมว่ามันคือหายนะตั้งแต่เริ่มต้น

แน่นอนคุณต้องเข้าใจว่าผมพูดในฐานะคู่แข่ง เราทำงานด้วยโครงการของเราเองที่บริษัทออกแบบเชโลมี แต่พูดตามตรง ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถชนะชาวอเมริกันได้เลย เมื่อพูดถึงโครงการอวกาศรัสเซีย ยังมีความเข้าใจผิดๆ ในมุมมองของตะวันตกว่าเรารวมอำนาจเบ็ดเสร็จ ในความเป็นจริงเรากระจายอำนาจมากกว่าสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่โครงการอพอลโลอย่างเดียวเสียอีก ในสหภาพโซเวียตเรามีผู้ออกแบบยานที่หลากหลายและแข่งขันกันเอง

- ทัศนะของพ่อคุณต่ออพอลโล 11 เป็นอย่างไร? คุณได้ถกกับท่านถึงเรื่องการลงจอดบนดวงจันทร์ของชาวอเมริกันหรือเปล่า ในหลายปีที่ผ่านที่มา?

ปฏิกิริยาของพ่อผมคือ ท่านไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมโคโรเลฟจึงพ่ายแพ้ในการแข่งขันนี้ และแน่นอนว่า ผมได้แสดงความคิดของผมต่อท่านว่าทำไม พอผมไม่ได้คุยในเรื่องนี้มากนัก ท่านฟังผม ท่านภูมิใจในสปุตนิกมาก ท่านบันทึกเรื่องนี้ไว้ในความทรงจำของท่านด้วย

- คุณคิดยังไงกับการความตั้งใจ ที่จะกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง?

โครงการอพอลโลเป็นโครงการการเมือง ตอนนี้เราอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่าง ความแตกต่างสำคัญคือการเข้าถึงในเชิงเทคโนโลยี ณ เวลานั้นเราอยู่ในจุดเริ่มต้นของยุคการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนมนุษย์ การค้นพบและการค้นคว้า ตอนนี้เรามีสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว ทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และยานสำรวจดาวอังคารมาร์สโรเวอร์ส (Mars rovers) เป็นต้น ผมจะให้ความสำคัญกับการใช้ยานสำรวจอัตโนมัติก่อน ไม่ใช่เที่ยวบินที่บังคับโดยคนแน่นอน.
เซอร์กี ครุชชอฟ (ภาพบีบีซีนิวส์)
ภาพเซอร์เกขณะบรรยายภายในสถาบันที่เขาทำงาน (ภาพจากหนังสือเพื่อการศึกษา New frontiers)
กำลังโหลดความคิดเห็น