นับเป็นการยิงจรวดครั้งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว สำหรับการส่งกล้องโทรทรรศน์ขึ้นสู่อวกาศทีเดียว 2 ตัว ของ องค์การอวกาศยุโรป "เฮอร์สเชล" และ "แพลงค์" รวมมูลค่าค่า 9 หมื่นล้านบาท เพื่อมุ่งศึกษาจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล
ตามตารางองค์การอวกาศยุโรปหรืออีซา (European Space Agency: Esa) มีกำหนดส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 2 ตัว คือ "เฮอร์สเชล" (Herschel) และ "แพลงค์" (Planck) ด้วยจรวดแอเรียน (Ariane) เพียงลำเดียว จากฐานปล่อยจรวดคัวรัว (Kourou) ในเฟรนซ์เกียอานา เวลา 20.12 น. ของวันที่ 14 พ.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย
จากรายงานของบีบีซีนิวส์ระบุว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสองซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 9 หมื่นล้านบาท จะรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล กล้องโทรทรรศน์ของอีซาจะแยกจากจรวดเมื่อขึ้นไปได้สูงกว่า 11,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก และแยกจากการเมื่ออยู่ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร
ขณะที่ข้อมูลจากอีซาเองเผยว่า หลังจากจรวดถูกปล่อยขึ้นไป กล้องโทรทรรศน์ทั้งสองซึ่งติดไปกับจรวดจะมุ่งหน้าไปยัง "แอล2" (L2) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ความโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงอาทิตย์คงที่ และจะเป็นตำแหน่งที่ทำให้กล้องโทรทรรศน์ทั้งสองโคจรอยู่ในด้านกลางคืนของโลกตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยปกป้องอุปกรณ์ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อรังสีดวงอาทิตย์ที่รบกวนการสังเกตห้วงอวกาศได้ ทั้งนี้หากให้กล้องทั้งสองโคจรรอบโลก ความร้อนทั้งจากดาวเคราะห์ของเรา ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะรบกวนการทำงานของเครื่องมือได้
"นี่คือผลจากการทำงานอย่างหนักมาหลายปีของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมนับพันคนทั่วยุโรป เทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสองมีลักษณะเฉพาะตัว และวิทยาศาสตร์จากกล้องโทรทรรศน์นี้ก็จะเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์มาก" ฌอง-ฌาคส์ ดอร์เดน (Jean-Jacques Dordain) ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การอวกาศยุโรปกล่าว
สำหรับกล้องโทรทรรศน์เฮอร์สเชลถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีคนพยายามส่งขึ้นไปบนอวกาศ โดยกระจกบานหลักมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 3.5 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าอุปกรณ์สะท้อนแสงตัวหลักกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ถึง 1.5 เท่า ด้วยขนาดนั้นตัวกล้องควรจะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก แต่กระจกของกล้องกลับมีน้ำหนักเพียง 350 กิโลกรัม เนื่องจากผลิตด้วย "ซิลิกอนคาร์ไบด์" (silicon carbide) ซึ่งเป็นเซรามิกส์ที่แตกต่างไปจากวัสดุเดิมๆ
เฮอร์สเชลจะมีคุณสมบัติที่ไวต่อความยาวคลื่นย่านอินฟราเรดและย่านวิทยุ ช่วยให้มองทะลุกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซต่างๆ และมองเห้นดวงดาวขณะเกิดใหม่ได้ ซึ่งความสามารถในการรับคลื่นอินฟราเรดนี่เองช่วยให้เฮอร์สเชลสำรวจเข้าไปในอวกาศห้วงลึกได้ และเพ่งดูกาแลกซีเติบโตในช่วงที่เอกภพมีอายุประมาณ 1 ใน 5 ถึงครึ่งหนึ่งของอายุปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของจักรวาลซึ่งมีการก่อตัวของดวงดาวในช่วงนี้
"เฮอร์สเชลกำลังจะช่วยให้เราเข้าใจว่าตอนนี้ดวงดาวก่อตัวขึ้นอย่างไรได้ดีขึ้นมากๆ และดวงดาวเหล่านั้นก่อตัวขึ้นอย่างไรในช่วงเลาหลายพันล้านปีของประวัติศาสตร์จักรวาล ซึ่งจะช่วยให้เราได้เข้าใจว่าดวงอาทิตย์และระบบสุริยะของเราก่อตัวขึ้นได้อย่างไรด้วย" ดร.กอรัน พิลแบรทท์ (Dr Göran Pilbratt) นักวิทยาศาสตร์โครงการเฮอร์สเชลของอีซากล่าว
ทั้งนี้ยานอวกาศจะบรรทุกถังขนาดใหญ่ที่บรรจุฮีเลียมเพื่อให้ความเย็นแก่อุปกรณ์และเครื่องมือตรวจวัดด้วยอุณหภูมิเฉียด -273 องศาเซลเซียสหรือ "ศูนย์องศาสัมบูรณ์" (absolute zero)
"เราสำรวจทุกความยาวคลื่นยาวซึ่งวัตถุที่มีความร้อนส่งมา ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้ความเย็นแก่กล้องโทรทรรศน์และเครื่องมือให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่อย่างนั้นสัญญาณเพียงเล็กน้อยที่เราพยายามตรวจจับจากอวกาศจะถูกบดบังจากรังสีที่กล้องปล่อยออกมาเอง" ศ.แมทท์ กริฟฟิน (Prof.Matt Griffin) จากทีมเครื่องมือกล้องเฮอร์สเชลกล่าว
ส่วนกล้องแพลงค์เป็นกล้องโทรทรรศน์สำหรับสำรวจ ซึ่งจะหมุนเพื่อทำแผนที่ท้องฟ้าจากความยาวคลื่นที่ยาวกว่าความยาวคลื่นของแสง ในสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าย่านไมโครเวฟ และจะเป็นเครื่องมือที่คมชัดที่สุดในการสำรวจรังสีพื้นหลังเอกภพ (Cosmic Microwave Background: CMB) ซึ่งเป็น "แสงเก่าแก่ที่สุด" ในเอกภพ และอยู่รอบๆ ตัวเรานับแต่เกิดบิกแบง (Big Bang) ได้ 380,000 ปี
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีมีความแปรปรวนของอุณหภูมิภายในพลังงานความร้อนที่เก่าแก่นี้ ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจในโครงสร้างของเอกภพในยุคเริ่มต้นได้อย่างลึกซึ้ง และกล้องแพลงค์ยังเป็นดาวเทียมดวงที่ 3 ที่ทำหน้าที่สำรวจรังสีพื้นหลังของเอกภพ โดยก่อนหน้านี้องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ส่งดาวเทียมลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นไปก่อน 2 ดวงคือ ดาวเทียม COBE และดาวเทียม WMAP