xs
xsm
sm
md
lg

19 ปีตำนานแห่ง "ฮับเบิล" ดวงตาในอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกล้องฮับ เบิลในวงโคจรซึ่งบันทึกเมื่อปี 2540 โดยลูกเรือแอตแลนติสที่ขึ้นไปติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ วิทยาศาสตร์ตัวใหม่ (ภาพนาซา/เอพี)
เป็นเวลา 19 ปีแล้วที่ "ฮับเบิล" ได้ทำหน้าที่เป็นดวงตาในอวกาศ นำภาพถ่ายของจักรวาลอีนกว้างใหญ่ถ่ายทอดสู่สายมนุษย์เล็กๆ บนพื้นโลก ทั้งมหากาพย์แห่งความรุนแรงจากกาแลกซีชนกัน ทั้งภาพการเกิด-การตายของดวงดาว หลายครั้งสอนบทเรียนอวกาศ แต่บางครั้งก็ให้วัตถุดิบในการสร้างสรรการ์ตูนขำขันแก่เราชาวโลก

ภาพที่ได้จากฮับเบิล (Hubble) นั้นทำให้ "ผู้ที่เชื่อ" ได้รับรู้ถึงพระหัตถ์ของพระเจ้า ส่วน "ผู้ที่ไม่เชื่อ" ก็ได้เห็นความเป็นไปของดาราศาสตร์ และสำหรับศิลปินแล้วพวกเขาได้ภาพอันทรงคุณค่าจากการสำรวจอวกาศ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวแรกแห่งสหรัฐฯ นี้กำลังจะได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่กล้องจะถูกใช้งานจนหมดอายุ

ทุกอย่างเป็นไปตามแผน กระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าตามกำหนดในชั่วโมงแรกเริ่มของวันที่ 12 พ.ค.นี้ ตามเวลาประเทศไทย มุ่งหน้าสู่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่โคจรอยู่สูงจากโลก 560 กิโลเมตร โดยภายในการเดินอวกาศ 5 ครั้ง นักบินอวกาศจะซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสียหายออก จากนั้นติดตั้งกล้องส่องระยะไกล และกล่าวอำลาตลอดกาลแก่อับเบิล ซึ่งหากทุกอย่างเป็นได้ด้วยดีกล้องโทรทรรศน์นี้จะยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก 5-7 ปี จากนั้นจะถูกควบคุมทางไกลให้ตกลงทะเล

ฮับเบิลไม่ได้สร้างเรื่องราวแห่งจักรวาลหากแต่สร้างเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยความล้มเหลวและการไถ่บาป โดย มาริโอ ลิวิโอ (Mario Livio) นักวิทยาศาสตร์อาวสุโสของฮับเบิลกล่าวกับเอพีถึงเรื่องราวเฉกเช่นบทละครของฮับเบิล ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่แห่งวงการวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นความสำเร็จอันใหญ่ยิ่งของวงการวิทยาศาสตร์ได้

ทั้งนี้ หลังจากขึ้นสู่อวกาศในปี 2533 กล้องฮับเบิลต้องจมอยู่กับปัญหาภาพไม่คมชัด เนื่องจากกระจกของกล้องที่ไม่ค่อยดีนัก และกลายเป็นตัวตลกขำขันของการ์ตูนที่เย้ยว่าผู้ออกแบบฮับเบิลคือ "มิสเตอร์มากู" (Mr. Magoo) ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนที่มีสายสั้น และดูยิ่งร้ายขึ้นไปอีกเมื่อการก่อสร้างเกินงบประมาณไปมาก แต่เมื่อได้รับการซ่อมแซมด้วยการเปลี่ยนชุดกระจกใหม่ในช่วงเวลา 3 ปีครึ่งหลังจากนั้น ฮับเบิลก็ลบล้างชื่อเสียงที่ไม่ดีของตัวเองออกได้ แล้วเริ่มต้นผลิตภาพถ่ายระยะไกลของอวกาศที่ดูเป็นศิลปะมากกว่าดาราศาสตร์

ฮับเบิลยังช่วยระบุชี้ชัดถึงอายุของเอกภพได้ 13.7 พันล้านปี อธิบายถึงสิ่งที่เกิดภายในเอกภพ และแสดงให้เห็นว่าเอกภพกำลังเดินหน้าไปทางไหน ภาพถ่ายของฮับเบิลยังบอกเป็นนัยว่าโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์หนึ่งนั้นไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว และเพียงภาพแสดงการดค้งงอของกาแลกซีก็เป็นหลักฐานประจักษ์ในการพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ได้

"ฮับเบิลช่วยเปิดให้จิตใจและจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของเราได้ท่องเที่ยวไปในระยะทางไกลนับปีแสง หรือแม้กระทั่งหลายพันล้านปีแสง" เอ็ด ไวเลอร์ (Ed Weiler) หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์แห่งองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าว ทั้งนี้ภาพในห้วงลึก "ฮับเบิลอัลตราดีพฟิล์ด" (Hubble Ultra Deep Field) ได้ฉายให้เห็นเมื่อครั้งเอกภพมีอายุประมาณ 700 ล้านปี และดาวที่อยู่ภายในอยู่ห่างออกไปประมาณ 1.3 หมื่นปีแสง ซึ่งระยะทาง 1 ปีแสงประมาณ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร

ด้านเดวิด เลคโรน (David Leckrone) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการฮับเบิลเผยว่า กล้องตัวใหม่ที่จะติดตั้งนั้นจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ทั้งหลายมองอวกาศได้ลึกไปอีก 200 ล้านปีแสง และหากทุกอย่างไปได้สวยในการซ่อมแซมกล้องครั้งนี้ ฮับเบิลจะมีความคมชัดที่สุดตั้งแต่ใช้งานมา

ภาพจากกล้องฮับเบิลในปี 2538 ซึ่งเป็นภาพของเนบิวลาอินทรีย์ (Eagle Nebula) ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่กล้องฮับเบิลซึ่งแรกที่เดียวมีชื่อเสียงไม่ดีนัก โดยภาพเนบิวลาดังกล่าวได้สร้างความตะลึงงันด้วยสีสันอันสวยงามและกลุ่มเมฆอันน่าทึ่งซึ่งเป็นแหล่งก่อเกิดดวงดาว และนาซาเรียกขนานนามเนบิวลาดังกล่าวว่า "เสาหลักแห่งการก่อเกิด" ส่วนสาธารณชน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเย้ยหยันฮับเบิลก็กลับรู้สึก "ตกหลุมรัก"

ตอนนี้ฮับเบิลได้บันทึกภาพในอวกาศกว่า 570,000 ภาพ ซึ่งบางภาพเป็นภาพการเกิดของดวงดาวและดาวเคราะห์ บางภาพบันทึกจุดจบของชีวิต ความตายและความรุนแรงในระดับอวกาศ

"เรามีภาพอันสวยงามของดวงดาวที่เหมือนกับดวงอาทิตย์ของเรากำลังตายกว่า 20 ภาพ ภาพเหล่านั้นน่าทึ่ง มันสร้างความกลัวให้กับจิตใจได้คิดว่า ดวงดาวเหล่านั้นที่คล้ายกันมากกลับมีจุดจบที่แตกต่างกัน" แฟรงก์ ซัมเมอร์ส (Frank Summers) นักดาราศาสตรืในโครงการอับเบิลกล่าว

เมื่อถึงปลายอายุการใช้งานของฮับเบิลซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้ 10-15 ปีนั้น ตอนแรกนาซาตัดสินให้กล้องค่อยๆ เสื่อมลงไปช้าๆ เนื่องจากภายหลังจากเกิดโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia ) ระเบิดในปี 2546 ได้ไม่นาน ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตนักบินอวกาศไปทั้งหมด 7 คน ภารกิจให้นักบินอวกาศซ่อมแซมฮับเบิลจึงดูเป็นเรื่องค่อนข้างเสี่ยง แต่ความเห็นจากสาธารณะและการเมืองก็ผลักดันให้นาซาเปลี่ยนใจ

นาซาเคยคิดว่าจะสร้างกล้องฮับเบิลด้วยมูลค่าหมื่นล้านบาท แต่เอาเข้าจริงๆ นาซาต้องจ่ายมากกว่านั้น 5 เท่า โดยรวมค่าซ่อม ค่าปรับปรุงและค่าเสื่อมสภาพ ซึ่งรวมแล้วเป็นมูลค่าเกือบๆ 3 ล้านล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน แต่ไวเลอร์แจงว่าไม่มีใครบ่นถึงเรื่องราคาดังกล่าว

"มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคนอเมริกันไปแล้ว" ไวเลอร์กล่าว และกล่าวว่าขณะที่คนทั่วไปรักฮับเบิลจากที่ไกลๆ แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดได้ค้นพบความเป็นบุคคลในฮับเบิล ซึ่งทางด้านจอห์น กรันฟิล์ด (John Grunsfeld) นักบินอวกาศผู้ซ่อมแซมฮับเบิลมาแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะขึ้นซ่อมแซมอีกเป็นครั้งที่ 3 กล่าวว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รู้สึกต่อฮับเบิลว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มันเป็นเพียงดาวเทียมดวงหนึ่ง แต่หากได้ทำงานในโครงการและรู้สึกรักในกล้องตัวนี้ จะทำให้เราใส่ความมีตัวตนลงไปในฮับเบิลได้ง่ายมาก

"ผมรู้สึกจริงๆ ว่า กำลังจะไปพบเพื่อนเก่าซึ่งผมไม่ได้พบมานาน ซึ่งคงจะผุกร่อนไปตามสภาพอากาศและเก่าลงเล็กน้อย" กรันฟิล์ดกล่าว โดยนาซาไม่ได้ขึ้นไปซ่อมแซมฮับเบิลเป็นเวลา 7 ปีแล้ว และคาดว่าครั้งนี้จะได้เห็นสภาพการผุกร่อน รวมทั้งรูที่เกิดจากขยะอวกาศ

ส่วนนักดาราศาสตร์อย่างลิวิโอกล่าวว่า ภาพถ่ายอวกาศนั้นชวนให้เขานึกถึงภาพวาด โดยภาพซึ่งถูกเติมสีภายหลังเนื่องจากภาพต้นฉบับเป็นภาพขาวดำนั้นมีสีสันที่ฉูดฉาด แต่ก็เป็นภาพของเอกภพ และเป็นศิลปะในระดับใหญ่มากๆ
ภาพเนบิวลาอินทรีย์ที่ฮับเบิลบันทึกไว่เมือ่ปี 2538 โดยโครงสร้างเหมือนเสานี้ได้สร้างความตะลึงงันให้กับชาวโลก (ภาพนาซา/เอพี)
ภาพ ฮับเบิลอัลตราดีพฟิล์ด ซึ่งกล้องฮับเบิลสามารถบันทึกแสงเมื่อ 1.3 หมื่นปีที่ผานมาได้ เผยให้เห็นเอกภพขณะอายุ 700 ล้านปี
ภาพจากกล้องฮับเบิลแสดงให้เห็นบริเวณที่มีการเกิดและดับของดวงดาว ในเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) ซึ่งภาพดังกล่าวคล้ายดังภาพวาดสีน้ำในแนวนามธรรม (นาซา/เอพี)
ภาพเปรียบเทียบของกาแลกซี เอ็ม 100 (M100) ซึ่งบันทึกด้วยกล้องฮับเบิลก่อนการซ่อมและปรับปรุงในปี 2537 (ซ้าย) และภาพของกาแลกซีเดียวกันที่บันทึกด้วยกล้องตัวใหม่ซึ่งจะนำไปติดตั้งบนฮับเบิล (นาซา/เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น