แอตแลนติสทะยานฟ้าตามเวลาเป๊ะ! ท่ามกลางสภาพอากาศแจ่งใส แม้จะมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเล็กน้อย ทั้งการตรวจพบน้ำแข็งเกาะที่สายลำเลียงไฮโดรเจนเหลว และเมฆที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ฐานปล่อยจรวด แต่ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยดีมุ่งหน้าสู่ภารกิจซ่อม "ฮับเบิล"
กระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) นำลูกเรือนักบินอวกาศ 7 คน ทะยานฟ้า จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา สหรัฐ เมื่อเวลา 01.01 น. ของวันที่ 12 พ.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย มุ่งหน้าปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) แล้ว โดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้รายงานสดผ่านเว็บไซต์ขององค์กร พร้อมอัพเดตความเคลื่อนไหวและภาพถ่ายนาทีต่อนาทีผ่าน http://twitter.com/NASA และ http://twitpic.com/photos/KSC_MOCOP ตามลำดับ
นาซากำหนดเวลาให้แอตแลนติสทะยานฟ้าในเวลา 14.01 น.ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าเมืองไทย 11 ชั่วโมง โดยทางด้านเอพีระบุว่าประชาชนกว่า 30,000 ใจจดใจจ่อกับการเฝ้าดูการปล่อยกระสวยอวกาศ ด้วยความคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกำหนด ขณะที่รายงานสภาพอากาศระบุว่า ฟ้าเอื้อต่อการเดินทางสู่วงโคจร 90% และสภาพอากาศแจ่มใสมาก
อย่างไรก็ดี ช่วงนับถอยหลัง 20 นาทีสุดท้ายนาซาได้ตรวจพบน้ำแข็งที่เกาะสายลำเลียงไฮโดรเจนเหลว ซึ่งภายหลังจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ผู้จัดการและวิศวกรของนาซายืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าวิตก ขณะเดียวกันก็มีเมฆคิวมูลัส (cumulus clouds) เคลื่อนตัวมาบริเวณฐานปล่อย ซึ่งแม้กำหนดปล่อยยานจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เจ้าหน้าที่ต่างเฝ้าจับตาดูเมฆดังกล่าว
ทางด้าน ไมค์ แมสซิมิโน (Mike Massimino) หนึ่งในนักบินอวกาศที่ได้ร่วมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจซ่อมกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยังได้ทิ้งข้อความผ่าน "ทวิตเตอร์" (twitter) ก่อนเข้าประจำที่เพื่อเตรียมทะยานฟ้าว่า กำลังจะสวมชุดอวกาศ ทั้งนี้ในทวิตเตอร์ส่วนตัวซึ่งเขาได้เล่าในแต่ละขั้นตอนเพื่อเตรียมตัวก่อนเดินทางสู่อวกาศนั้น เขายังระบุด้วยว่า จะพยายามส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์เท่าที่สามารถทำได้ แต่อาจไม่บ่อยนัก
นักบินอวกาศทั้ง 7 คนที่เดินทางไปพร้อมกับแอตแลนติสครั้งนี้ ได้แก่ สกอตต์ อัลท์แมน (Scott Altman) ซึ่งเป็นผู้บังคับการบินของเที่ยวบินนี้ โดยเอเอฟพีระบุว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเขา ตามมาด้วยนักบินอวกาศมือใหม่ แอนดรูว ฟูสเทล (Andrew Feustel) และลูกเรือที่เหลือได้แก่ เกรก จอห์นสัน (Greg Johnson) รับหน้าที่นักบิน เมแกน แมคอาร์เธอร์ (Megan McArthur) วิศวกรประจำเที่ยวบิน จอห์น กรันส์ฟิล์ด (John Grunsfeld) ผู้รับหน้าที่หลักในการเดินอวกาศ ไมเคิล แมสซิมิโน (Michael Massimino) และ ไมเคิล กู๊ด (Michael Good)
สำหรับปฏิบัติการของยานแอตแลนติสนั้นมีระยะเวลา 11 วัน ซึ่งเป้าหมายในการซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการซ่อมบำรุงครั้งสุดท้าย ก่อนที่กล้องจะถูกปลดระวาง อโดยจะมีการเดินอวกาศทั้งสิ้น 5 ครั้ง ซึ่งหากประสบความสำเร็จตามคาด นาซาเชื่อว่าจะยืดอายุเครื่องมือในอวกาศนี้ออกไปได้อย่างน้อย 5 ปี
ฮับเบิลถูกปล่อยสูวงโคจรตั้งแต่ปี 2533 และได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมืออันยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการดาราศาสตร์ อยู่สูงขึ้นไปจากพื้นโลก 575 กิโลเมตร มีน้ำหนัก 11 ตัน ซี่งเจ้าที่หวังว่าจะใช้งานฮับเบิลได้จนถึงปี 2557 ก่อนที่จะส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ขึ้นไปแทนที่
ทุกครั้งที่จรวดทะยานขึ้นฟ้า นักบินอวกาศที่ประจำอยู่ในกระสวยอวกาศต่างได้รับแรงดึงดูดที่มากกว่าปกติเสมอ หากไม่ได้รับการฝึกอย่างหนักแล้ว คงยากที่ร่างกายจะทนได้ (เอเอฟพี)
ช่างภาพตามติดบันทึกภาพประวัติศาสตร์ (เอเอฟพี)
อีกมุมของการปล่อยจรวด (เอเอฟพี)
ระดมยิง (เอเอฟพี)
โชคดีที่เจ้านกน้อยไม่ขวางทางจรวด (เอเอฟพี)
เป็นภาพคุ้นตาเหมือนทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่ปล่อยจรวดต้องมั่นใจว่าปลอดภัย (เอเอฟพี)
ชมภาพขณะจรวดทะยานฟ้าผ่าน youtube