ขยะอวกาศจากจีนเกือบชนกระสวยอวกาศ "แอตแลนติส" ขณะมุ่งหน้าขึ้นสู่วงโคจรเพื่อซ่อมกล้อง "ฮับเบิล" โดยนาซาจัดให้เศษซากในอวกาศจากจีน อยู่ในแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
สเปซด็อทคอมรายงานข่าวความน่าหวาดเสียวของลูกเรือกระสวยอวกาศ "แอตแลนติส" (Atlantis) ทั้ง 7 คน ซึ่งมุ่งหน้าสู่ภารกิจซ่อมแซมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ว่า เมื่อประมาณ 6.00 น. ของเช้าวันที่ 14 พ.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย
เหตุเกิดเพราะมีขยะอวกาศขนาดประมาณ 4 นิ้วลอยอยู่เบื้องล่างกระสวยอวกาศเพียง 150 เมตร และอยู่ด้านหน้ากระสวยอวกาศประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อมูลตามรายงานของ แพท ไรอัน (Pat Ryan) ผู้รายงานข่าวนาซาทีวี (NASA TV) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)
ทั้งนี้ ขยะอวกาศที่เกือบสร้างโศกนาฏกรรมให้แก่นาซาอีกครั้ง เป็นเศษซากที่เกิดจากการยิงทดสอบทำลายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา "เฟิงหยุน" (Fengyun 1C) ของจีนเมื่อปี 2550 แต่ลูกเรือไม่ต้องปฏิบัติการใดๆ เพื่อรับมือกับขยะอวกาศดังกล่าว
ทางด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ขณะนี้กระสวยอวกาศแอตแลนติสได้ยึดเข้ากับกล้องฮับเบิลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้งฮับเบิลและแอตแลนติสอยู่ในวงโคจรห่างจากพื้นโลกขึ้นไปประมาณ 653 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างดาวเทียมของสหรัฐฯ และรัสเซียชนกันเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เหนือท้องฟ้าของไซบีเรีย ซึ่งนาซาจัดให้เหตุการณ์อยู่ในประเภท "ความเสี่ยงพิเศษ" และขยะอวกาศของจีนก็จัดอยู่ในบัญชี "สีเหลือง" (yellow) ซึ่งหมายถึงแผนการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ในวงโคจรปัจจุบัน แอตแลนติสมีโอกาส 1 ใน 229 ที่จะได้รับอันตรายจากขยะอวกาศ ซึ่งมากกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ที่มีโอกาสเสี่ยงต่ำกว่า โดยมีความเสี่ยงที่สถานีอวกาศจะถูกชนจากขยะอวกาศประมาณ 1 ใน 300 แต่ทั้งนี้สถานีลอยอยู่ต่ำกว่ากระสวยอวกาศ โดยอยู่ในวงโคจรที่ระดับความสูง 354 กิโลเมตร
เลอรอย เคน (LeRoy Cain) ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการกระสวยอวกาศของนาซา กล่าวว่านาซาและเครือข่ายตรวจตราอวกาศแห่งสหรัฐฯ (U.S. Space Surveillance Network) ได้ติดตามสภาพของเศษซากขยะอวกาศที่อยู่รอบๆ แอตแลนติสและฮับเบิลพอๆ กับที่ปฏิบัติต่อยานอวกาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ลำอื่นๆ
ในกรณีเลวร้ายสุดๆ ที่แอตแลนติสถูกปะทะอย่างแรง จนไม่สามารถกลับมายังโลกได้ นาซาได้เตรียมพร้อมกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ที่จะขึ้นไปกู้ภัยและนำนักบินอวกาศกลับลงมา.