xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! ขยะอวกาศเข้าใกล้สถานีอวกาศ 3 นักบินเตรียมหนีตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานีอวกาศนานาชาติ (เอพี)
ดาวเทียมชนกันกลางอวกาศเมื่อเดือนที่แล้ว ยังไม่ทันหายตื่นเต้นดี มีเรื่องให้ระทึกอีกแล้ว เมื่อขยะอวกาศพุ่งเข้าใกล้สถานีอวกาศ ทำเอา 3 นักบินที่ประจำอยู่ใจหายวาบ เตรียมหนีตายกลับโลก โชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น แต่น่าห่วงอนาคตอาจเกิดอีก ระบุเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้ง ให้เรารีบจัดการปัญหาขยะอวกาศได้แล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 23.45 น. ของวันที่ 12 มี.ค.52 ที่ผ่านมา (ตามเวลาในประเทศไทย) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้รับแจ้งจากนักบินที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอส (International Space Station: ISS) ว่ามีวัตถุในอวกาศเคลื่อนที่เข้ามาใกล้สถานี ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า นักบินรายงานหลังจากที่พวกเขาเตรียมพร้อมหนีตายอยู่ในยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียกันแล้ว แต่เหตุการณ์ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยที่ไม่มีใครหรืออะไรได้รับอันตราย

เจ้าหน้าที่ของนาซาเปิดเผยในเอพีว่า ถ้ามันชนเข้ากับสถานีตรงบริเวณจุดสำคัญ และพวกนักบินก็อยู่ในนั้นด้วย พวกเขาจะมีเวลาเพียงแค่ 10 นาที ที่จะหนีรอดได้อย่างปลอดภัย เพราะภายในสถานีอวกาศจะสูญเสียอากาศ สูญเสียความดัน และสูญสิ้นสิ่งมีชีวิตในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามลูกเรือเคลื่อนไหวกันได้อย่างรวดเร็ว และรออยู่ภายในโซยุซราว 10 นาที ซึ่งหากเกิดอะไรเลวร้ายขึ้นกว่านั้น พวกเขาก็พร้อมมุ่งหน้ากลับโลกทันที ส่วนบนโลกเจ้าหน้าที่ต่างก็วิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

"พวกเราเฝ้าจับจ้องดูด้วยลมหายใจแผ่วเบา เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกหรือเปล่า" มาร์ค แมทนีย์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศของนาซาเล่า ซึ่งวัตถุที่เข้าใกล้ไอเอสเอสนั้นเคลื่อนที่หายไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้ว่ามีขนาดเท่าไหร่ แต่คาดว่าเป็นขยะอวกาศขนาดประมาณ 5 นิ้ว โดยเข้ามาใกล้ราว 4.5 กิโลเมตร

ด้านผู้บังคับการไมค์ ฟิงเค (Commander Mike Fincke) เล่าผ่านสัญญาณวิทยุมายังสถานีอวกาศในฮุสตันอย่างตื่นเต้นว่า ในวินาทีรอดตายนั้นพวกเขาต่างมองออกมาทางหน้าต่างของโซยุซ แต่มองไม่เห็นอะไรเลย พวกเขาสงสัยกันอย่างมากว่ามันจะจบลงอย่างไร โดยเพื่อนนักบินร่วมชะตากรรมของเขาอีก 2 นาย คือ แซนดรา แมกนัส (Sandy Magnus) และ ยูริ ลองฮาคอฟ (Yuri Lonchakov) ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ปลอดภัยดี

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ดาวเทียม 2 ดวง ของสหรัฐฯ และรัสเซีย ชนกันกลางอากาศประมาณ 1 เดือนที่แล้ว ที่ก่อให้เกิดขยะอวกาศเพิ่มขึ้นอีกนับหลายร้อยชิ้น ซึ่งโจนาธาน แมคโดเวล (Jonathan McDowell) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากฮาร์วาร์ด บอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่เตือนให้เรารู้ตัวว่าควรจะทำอะไรสักอย่างจริงๆจังๆเสียทีกับขยะอวกาศที่ลอยเกลื่อนอยู่รอบโลก

แมคโดเวลให้ข้อมูลอีกว่าศูนย์บัญชาการอวกาศสหรัฐฯ (U.S. Space Command) ติดตามวัตถุในอวกาศ พบว่ามีวัตถุขนาดตั้งแต่ 4 นิ้วขึ้นไป โคจรอยู่รอบโลกราว 13,943 ชิ้น โดยมีเพียง 900 ชิ้นเท่านั้นที่เป็นดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ ส่วนที่เหลือเป็นขยะอวกาศทั้งสิ้นรวมทั้งดาวเทียมที่เลิกใช้งานแล้วด้วย และนอกจากนั้นยังมีวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 4 นิ้ว อีกนับนับไม่ถ้วนที่อยู่ในสถานะเป็นขยะอวกาศ ซึ่งไม่สามารถจะติดตามตรวจสอบได้โดยง่ายด้วย

ทั้งนี้ แมทนีย์คาดคะเนว่าวัตถุที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับนักบินและสถานีอวกาศในครั้งนี้ได้น่าจะมีขนาดประมาณ 5 นิ้ว ขณะที่แมคโดเวลคำนวณว่าอาจจะใหญ่กว่านั้น บางทีอาจใหญ่ถึง 1 ฟุต

แมทนีย์และแมคโดเวลสันนิษฐานกันว่าขยะอวกาศเจ้าปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นวัตถุบางอย่างที่ใช้ในการส่งดาวเทียมระบุตำแหน่งบนโลก (global positioning satellite) เมื่อปี 2536 และถูกปล่อยให้หลุดออกมาหลังจากที่ดาวเทียมประทับวงโคจรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว

อย่างไรก็ดี สถานีอวกาศนานาชาติเคยถูกขยะอวกาศปะทะมาแล้วตรงบริเวณแผงโซลาร์เซลล์และบริเวณตัวถังนำความร้อน แต่โชคดีที่ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงเลยสักครั้ง และครั้งนี้ก็ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่แน่ว่าครั้งต่อไปจะโชคดีเช่นนี้หรือเปล่า เพราะขยะอวกาศยังมีอยู่อีกมหาศาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น