xs
xsm
sm
md
lg

ภัยในชีวิต

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภูเขาไฟ Soufrière Hills ระเบิดเมื่อปี 1995 หลังจากที่สงบเงียบมานาน 400 ปี
แม้คนยุคนี้จะมีอายุยืนและสุขภาพดีกว่าคนยุคโบราณมาก แต่ใช่ว่าเราจะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจยิ่งกว่าคนโบราณ ทั้งนี้เพราะคนปัจจุบันต้องเสี่ยงภัยที่คนโบราณไม่เคยเผชิญตลอดเวลา เช่น เวลาเปิดสวิตซ์ไฟเราเสี่ยงถูกไฟช็อต เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน เรือ หรือรถยนต์ เครื่องบินอาจตก เรืออาจล่ม และรถอาจคว่ำ เวลาบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน นอกจากภัยที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างเองแล้ว มนุษย์ยังต้องเผชิญภัยธรรมชาติด้วย เช่น เวลาฝนตกหนัก เราอาจเผชิญอุทกภัย เวลาพายุพัดแรง เราอาจเผชิญวาตภัย เวลาฝนไม่ตก เราผจญภัยแล้ง และถ้าบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น เราก็มีภัยภูเขาไฟ เป็นต้น

เมื่อทุกชีวิตตกอยู่ในความไม่ปลอดภัยไม่ช้าก็เร็วเช่นนี้ ผู้คนทั่วไปจึงวิตกและพยายามหาวิธีลดความรุนแรงหรือขจัดภัย เช่น คาดเข็มขัดนิรภัยหรือสวมหมวกกันน็อกเวลาเดินทาง หรือใช้กล้องโทรทรรศน์ตรวจดูลักษณะการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลก เพื่อวิเคราะห์ว่ามีดาวเคราะห์น้อยดวงใดที่จะพุ่งชนโลกและจะชนเมื่อใด หรือต้องระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันนานๆ เพื่อป้องกันภัยมะเร็งในสมอง เป็นต้น

แม้เราจะรู้อำนาจการทำลายของภัยบางชนิดเป็นอย่างดี แต่นักจิตวิทยาก็ได้พบว่า คนทุกคนหาได้วิตกกังวลเท่ากันไม่ บางคนรู้สึกวิตกมากในกรณีภัยไม่รุนแรง แต่กลับไม่วิตกเลยในกรณีภัยที่สามารถทำลายชีวิตได้ เช่น ภัยกัมมันตรังสี ซึ่งคนทั่วไปมักคิดว่ากัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าพลังปรมาณูปล่อยออกเป็นมหันตภัย และรังสีเอกซ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลไม่มีอันตรายใดๆ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทำงานไม่บกพร่องเลย รังสีเอกซ์มีอำนาจในการทำลายสุขภาพของคนยิ่งกว่ากัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าหลายร้อยเท่า นักจิตวิทยาได้อธิบายสาเหตุของการที่เรามีความกังวลเกี่ยวกับภัยในปริมาณที่ไม่สมควรว่า เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ถ้าเราประสบภัยขณะถูกบังคับให้ทำงาน เราจะรู้สึกกังวลมาก แต่ถ้าอุบัติภัยเกิดจากการที่เราอาสาทำงานชิ้นนั้นเอง เราจะรู้สึกว่าภัยที่ได้รับไม่รุนแรง ตามปกติคนทั่วไปมักรู้สึกกลัวภัยธรรมชาติน้อยกว่าภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะกลัวภัยที่เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เขาไม่เข้าใจธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ เลย เช่น กลัวภัยที่จะเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการตัดต่อสารพันธุกรรม (GMO)

ในความพยายามที่จะขจัดความวิตกกังวล ซึ่งอาจจะมากหรือน้อย นักจิตวิทยาได้พบว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเข้าใจธรรมชาติของภัย รู้โอกาสการอุบัติ รู้ผลกระทบที่จะตามมาและมีวิธีปฏิบัติที่จะให้ภัยเหล่านั้นคุกคามชีวิตน้อยลง จิตใจของเราก็จะรู้สึกสุขทันที

ยกตัวอย่างเช่น ภัยลอบสังหารที่บรรดาผู้นำของประเทศต้องเผชิญตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เพราะประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า จักรพรรดิหรือประธานาธิบดี ต่างก็มีโอกาสถูกลอบสังหารได้ เช่น Caesar แห่งอาณาจักรโรมัน Archduke Franz Ferdinand แห่งยูโกสลาเวีย หรือประธานาธิบดี Kennedy, Sadat และนายกรัฐมนตรี Gandhi ต่างก็ถูกลอบสังหาร เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ J. Kubie แห่งมหาวิทยาลัย Middlesex ในประเทศอังกฤษคิดว่าระดับความปลอดภัยของรัฐบุรุษแปรผกผันกับจำนวนผู้ประสงค์ร้าย และแปรโดยตรงกับความถี่ในการปรากฏตัวตามที่สาธารณะ ดังนั้น ผู้นำทั้งหลายจึงไม่ควรปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อย และเวลาเดินทางควรใช้พาหนะที่มีเกราะกำบังกระสุน นอกจากนี้ ผู้นำชาติควรปรับเปลี่ยนกิจกรรมชีวิตของตนไม่ให้ซ้ำซากจนผู้ประสงค์ร้ายสามารถวางแผนลอบทำร้ายได้ อีกทั้งควรหาองครักษ์ที่ซื่อสัตย์ขนาดตายแทนตนได้ 2-3 คนมาคอยติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่อยู่ท่ามกลางสาธารณชน

นอกจากภัยลอบสังหารแล้ว ภัยสุขภาพที่เกิดจากการออกกำลังกายที่มากเกินไปก็เป็นภัยชนิดหนึ่งที่คุกคามบรรดานักกีฬาระดับชาติหรือระดับโลก เพราะการฝึกซ้อมของนักกีฬายุคนี้มักหนักหน่วงนานและรุนแรงกว่าการฝึกซ้อมของนักกีฬาในอดีตมาก เมื่อ 30 ปีก่อน ครูฝึกมักบังคับให้นักกรีฑามาราธอนวิ่งเพียงสัปดาห์ละ 30-40 กิโลเมตร แต่นักกรีฑายุคปัจจุบันที่หวังจะได้ครองเหรียญ จะต้องวิ่งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 100 กิโลเมตร การฝึกซ้อมที่หนักและนานเช่นนี้อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ นักยิมนาสติกที่มีอายุน้อยก็เช่นกัน หากประสบอุบัติเหตุหกล้มกระดูกหัก นั่นก็หมายความว่า การเจริญเติบโตของร่างกายในระยะยาวจะถูกกระทบกระเทือน สถิติที่ได้จากการสำรวจยืนยันว่า 11% ของนักยิมนาสติกอเมริกันมีอาการกระดูกสันหลังร้าวสูงกว่าเด็กทั่วไปถึงสี่เท่า ส่วนการออกกำลังกายที่หักโหมก็มีสิทธิ์ทำให้นักกีฬาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายอย่างฉับพลันได้ ในลักษณะเดียวกับ Pheidippides ผู้วิ่งจากเมืองมาราธอนไปกรุงเอเธนส์เมื่อ 2,491 ปีก่อนเพื่อบอกข่าวชัยชนะของกองทัพกรีกให้ชาวเมืองรู้ ทันทีที่ส่งข่าวเสร็จ เขาก็ล้มลงและขาดใจตายด้วยโรคหัวใจวายฉับพลัน ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อหัวใจของเขาเติบโตผิดธรรมชาติ (hypertrophic cardiomypathy) โรคนี้เกิดจากการที่หัวใจด้านซ้ายมีกล้ามเนื้อหนามาก ดังนั้นการออกกำลังกายที่มากยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจยิ่งหนา ด้วยเหตุนี้ห้องหัวใจจึงมีขนาดเล็กลงจนทำให้ร่างกายไม่ได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ และนั่นก็หมายถึงวาระสุดท้ายของชีวิตนักกีฬาคนนั้น

สำหรับนักกีฬาหญิงก็มักถูกคุกคามด้วยกีฬาภัยเช่นกัน เพราะมีรายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ระบบสืบพันธุ์ของนักกีฬาหญิงที่ซ้อมหนักมักทำงานไม่ปรกติ เช่นในฤดูแข่งขัน ระดูของนักจักรยานหญิงและนักพายเรือหญิงมักจะมาน้อยกว่าปรกติ (oilgomenorrhea) และประจำเดือนของนักยิมนาสติกหญิงประมาณ 60% จะมาช้ากว่าปรกติ (amenorrhea) ทั้งนี้เพราะเวลานักกีฬาหญิงเครียดจัด ร่างกายจะขับฮอร์โมน endorphin และ cortisol ออกมารบกวนการทำงานของ hypothalamus ในสมอง ซึ่งมีผลทำให้การมาของประจำเดือนของนักกีฬาหญิงคลาดเคลื่อน ส่วนนักกีฬาชายก็มีการพบว่า ในช่วงเวลาที่ฝึกซ้อมหนักจำนวนอสุจิในอัณฑะจะลด และนั่นก็หมายความว่าเขามีโอกาสเจริญพันธุ์น้อย เราจึงเห็นได้ว่าในการเลี่ยงหรือลดความรุนแรงของภัยชนิดนี้ นักกีฬาควรปรับลดระดับความเข้มของการฝึก ไม่ให้มากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่น้อยจนทำให้นักกีฬาต้องชวดเหรียญ

ไม่เพียงบนโลกเท่านั้นที่มีภัย นอกโลกก็มีภัย เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน R. Kessler แห่งสหรัฐอเมริกาได้เคยปรารภว่า อีกไม่นาน โลกจะมีวงแหวนล้อมรอบเช่นดาวเสาร์ วงแหวนนี้มิได้ประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งหรืออุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมหาศาล แต่เป็นวงแหวนที่เกิดจากขยะนานาชนิดในอวกาศ ทั้งนี้เพราะในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจได้ส่งจรวดนำดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นไปโคจรเหนือโลกหลายหมื่นครั้ง และเมื่อวัตถุอวกาศเหล่านั้นทำงานจนหมดสภาพแล้ว ขยะอวกาศบางชิ้นก็ยังคงลอยเคว้งคว้างอยู่ต่อไป การเสียดสีกับบรรยากาศโลกทำให้มันลุกไหม้เป็นเถ้าถ่าน ถ้าธุลีขยะที่เล็กเท่าเม็ดทรายและมีความเร็วกว่า 5 กิโลเมตร/วินาที พุ่งชนชุดที่มนุษย์อวกาศสวมอยู่ มันสามารถทะลุชุดอวกาศเข้าไปทำร้ายมนุษย์อวกาศได้ ส่วนขยะที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีความเร็วยิ่งกว่าก็สามารถทำลายยานอวกาศขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นในการประเมินความปลอดภัยของมนุษย์อวกาศและยานอวกาศ NASA จึงต้องระแวดระวังภัยชนิดนี้ด้วย และผลการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศได้แสดงให้เห็นว่า ณ วันนี้ที่ระดับสูง 1,000 กิโลเมตรเหนือโลก เป็นบริเวณที่ปลอดขยะ แต่ขยะที่มีขนาดเม็ดทราย ถ้าลอยอยู่ที่ระดับสูง 800 กิโลเมตร จะลอยอยู่ได้นานถึง 30 ปี ดังนั้นถ้าเราปล่อยจรวดอวกาศขึ้นสู่อวกาศ ในอัตราปัจจุบันทุกปี Kessler คิดว่าอีก 30 ปี โลกจะมีเศษขยะถึง 10 ล้านชิ้น ซึ่งถ้านำมาชั่งรวมกันก็จะหนักถึง 500 ตัน

เมื่อขยะอวกาศมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณ อันตรายที่จะเกิดจากขยะอวกาศก็ย่อมเพิ่มตาม ดังนั้นนักเทคโนโลยีจึงวางแผนยิงแสงเลเซอร์พลังงานสูงไปเผาขยะอวกาศจนแหลกละเอียดเป็นจุณ แต่การกำจัดขยะอวกาศด้วยวิธีนี้ ต้องใช้งบประมาณเกินกำลังที่ชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ดังนั้นแผนบรรเทาภัยชนิดนี้ในระยะสั้นคือให้ดาวเทียมที่จะถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกมีถังเชื้อเพลิงในตัวเองสำหรับการบังคับให้มันพุ่งเสียดสีกับบรรยากาศจนถูกเผาแหลกลาญไม่เหลือซาก

แม้ภัยทั้งหลายที่กล่าวมานี้จะรุนแรง แต่ก็ยังนับว่ารุนแรงน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับภัยอุกกาบาตพุ่งชนโลก เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบหลักฐานที่แหลม Yucatan ในเม็กซิโกว่าเมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว โลกถูกอุกกาบาตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 10 กิโลเมตรพุ่งชน ความรุนแรงของการปะทะครั้งนั้นได้ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ได้มีอุกกาบาตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 44 เมตรระเบิดที่ระดับสูง 8 กิโลเมตรเหนือแม่น้ำ Tunguska ในไซบีเรีย พลังระเบิดขนาด 15 เมกะตัน ได้ทำลายต้นไม้ในป่าพื้นที่ 1,000 ตารางกิโลเมตรราพณาสูร ความรุนแรงของเหตุการณ์ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ปริวิตกมาก เพราะถ้าอุกกาบาตก้อนนั้นตกช้าไป 5 นาที นครเฮลซิงกิของฟินแลนด์ก็จะราบเป็นหน้ากลอง ส่วนเหตุการณ์ดาวหาง Shoemaker-Levy-9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 ก็เป็นหลักฐานยืนยันอีกว่าโลกมีโอกาสถูกดาวหางและอุกกาบาตพุ่งชนได้ ดังนั้นเราจึงควรระแวดระวังภัยอุกกาบาตนี้และควรมีมาตรการป้องกัน เพราะถ้าอุกกาบาตที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 200 เมตร และมีความเร็ว 60 เมตรต่อวินาที ตกในมหาสมุทร คลื่นสึนามิที่สูง 100-200 เมตร จะพุ่งเข้าถล่มเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลจนราบเรียบ และถ้าอุกกาบาตขนาดเดียวกันนี้ตกกระทบแผ่นดิน ความรุนแรงของการปะทะจะเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดไฮโดรเจนนับหมื่นลูกพร้อมกัน เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ องค์การบินและและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ จึงมีโครงการ Spaceguard ใช้กล้องโทรทรรศน์ตรวจวัดวงโคจร ขนาด และความเร็วของอุกกาบาต รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยทุกดวงที่โคจรเข้ามาใกล้โลกเพื่อคำนวณโอกาสและเวลาที่มันจะพุ่งชนโลก และสำหรับวิธีที่ใช้ในการต่อสู้อุกกาบาต นักอุกกาบาตวิทยามีความเห็นพ้องกันว่า ควรใช้จรวดที่มีปืนยิงกระสุนความเร็วสูงให้พุ่งชนอุกกาบาตก้อนนั้น แต่อุกกาบาตขนาดใหญ่การยิงทำลายด้วยระเบิดปรมาณูเป็นทางเลือกหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดหวังจะใช้ในการปกป้องชีวิตของมนุษย์จำนวนพันล้านคนบนโลก

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง อัคคีภัยเป็นภัยอีกชนิดหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล สถิติการสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันถูกไฟคลอกตายปีละ 6,000 คน อีก 6หมื่นคนถูกไฟไหม้จนร่างกายบาดเจ็บหรือพิการ และไฟยังทำลายทรัพย์สินอีกปีละ 8 แสนล้านบาทด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสันดาปพบว่า เวลาเกิดไฟไหม้ ปริมาณความร้อนและควันในบริเวณนั้นจะเพิ่มตลอดเวลา เมื่อควันลอยขึ้นปะทะเพดานและไม่มีทางออก ะเพิ่มตลอดเวลา เมื่อสินมหาศาล สถิติการสำรวจแสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันถูกไฟคลอกตายปีละ 6,000 คน มันจะพุ่งลงต่ำจนกระทั่งถึงเปลวไฟที่กำลังลุกอยู่เบื้องล่าง ควันและความร้อนที่เคลื่อนที่ลงมานี้จะรวมกับความร้อนที่มีอยู่เดิม ทำให้ไฟมีอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้นไปอีก ถึงระดับที่สามารถเผาทุกสิ่งทุกอย่างในห้องนั้น ตามปรกติไฟจะใช้เวลา 2-3 นาทีในการไหม้ห้องหนึ่งห้อง และนี่ก็คือเวลา 2 นาทีที่คนในห้องต้องใช้สำหรับการเอาตัวรอดจากการถูกไฟคลอก ทุกวันนี้ตึกใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาใช้ระบบ Arson Information Management ซึ่งอาศัยความรู้ฟิสิกส์ด้านการไหลของอากาศและเคมีของไฟ มาประเมินโอกาสและรูปแบบที่ไฟจะไหม้ตึก เพื่อให้ข้อมูลแก่บุคคลที่ทำงานในบริเวณต่างๆ ของตึกให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากที่สุด

นอกจากภัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ชีวิตของคนเรายังต้องเผชิญอุทกภัย วาตภัย เอดส์ภัย บุหรี่ภัย สุราภัย ภัยสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ภัยโทรศัพท์มือถือ ภัย GMO ฯลฯ ด้วย ภัยที่หลากหลายรูปแบบและรุนแรงแตกต่างกันล้วนคุกคามชีวิตตลอดเวลา คงทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าชีวิตกับภัยเป็นของคู่กัน และไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถดำรงอยู่ได้โดยไร้ภัยเบียดเบียน เมื่อการหลบเลี่ยงและขจัดภัยทุกชนิดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ชีวิตของเราก็ต้องดำเนินต่อไป การทำใจและไว้ใจก็เป็นความจำเป็นที่เราต้องมี เพื่อจะได้รู้สึกเป็นสุข เช่น เวลาเดินทางด้วยเครื่องบิน ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ระบบการทำงานของเครื่องบินเลย แต่ก็ต้องไว้ใจความสามารถของกัปตันว่าจะนำเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย และไว้ใจบริษัทการบินว่าได้จัดหาเครื่องบินที่มีสมรรถภาพสูงมาให้บริการ เราจึงจะเดินทางได้อย่างสบายใจ

โดยสรุป กิจกรรมชีวิตทุกรูปแบบมีภัย ถ้าเราร้องไห้ก็เสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นเคนอารมณ์อ่อนไหว จะรักใครก็เสี่ยงกับภัยอกหัก จะมีชีวิตก็เสี่ยงกับการตาย จะหวังก็เสี่ยงกับการสิ้นหวังหรือผิดหวัง จะทำงานก็เสี่ยงกับการล้มเหลว

แต่เราก็ต้องเสี่ยงภัยเหล่านี้ เพราะถ้าไม่เสี่ยงภัยอะไรเลย ชีวิตก็จะไม่มีอะไร หรือเป็นอะไรเลย

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
เครื่องบินโบอิง 747 ตกที่เกาะ Guam ผู้โดยสาร 28 คนรอดชีวิต ปี 2000
ภัยจราจร
กำลังโหลดความคิดเห็น