เดลิเมล์ - ถ้าคุณอาศัยอยู่ในอังกฤษ สหรัฐฯ หรือจีน ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ หลังนักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดในมหันตภัยดาวเคราะห์ชนโลกที่ส่อแววคืบคลานเข้ามา
การคาดคะเนดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่เหล่านักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าประเทศใดที่ต้องประสบหายนภัยครั้งร้ายแรงที่ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก หรือได้รับความเสียหายจนแทบไม่สามารถฟื้นฟูคืนมาได้เลย
ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ทว่า จีน อยู่ในข่ายนั้นเช่นกัน สืบเนื่องจากแนวโน้มผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล กระนั้นก็ดีชาติเล็กๆ อย่างสวีเดนก็ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวงสืบเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขา
อันดับรายชื่อดังกล่าวรวบรวมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตันของอังกฤษ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกว่านีโออิมแพกเตอร์ ซอฟต์แวร์ซึ่งใช้สำหรับโครงการศึกษากรณีวัตถุใกล้โลกของนาซา หรือ “นีโอ” (Near Earth Object)
โดยรวมแล้ว 10 อันดับแรกของประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกมากที่สุด คือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อิตาลี สหราชอาณาจักร บราซิล และไนจีเรีย
แต่หากดูจากความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียชีวิตพลเรือน สหรัฐฯ จีน อินโดนีเซีย อินเดียและญี่ปุ่น คือประเทศที่อันตรายมากที่สุด ขณะที่ชาติที่อาจต้องเผชิญหายนะใหญ่หลวงต่อโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสวีเดน
ตัวอย่างแห่งภัยคุกคามของดาวเคราะห์เพิ่งปรากฏให้เห็นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันจันทร์ (27) หลังดาวเคราะห์ 2011 เอ็มดี (2011 MD) ขนาดใหญ่เท่าบ้าน เคลื่อนตัวพุ่งเฉียดโลก ห่างไปแค่ 7,500 ไมล์เท่านั้น ขณะที่นักดาราศาสตร์พบเห็นความเคลื่อนไหวของมันก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน แถมตอนแรกยังคิดว่าเป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนขยะอวกาศเท่านั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ณ ดินแดนห่างไกลใกล้แม่น้ำทังกัสกาของรัสเซีย มีผู้พบเห็นดาวเคราะห์เทียบกับวัตถุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เมตรระเบิดกลางอากาศ อันนับเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดที่ตกกระทบโลกในช่วงชีวิตปัจจุบัน ขณะที่ นิค บาลีย์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นีโออิมแพคเตอร์ ชี้ว่าหากดาวเคราะห์ดังกล่าวเกิดระเบิดเหนือลอนดอน มันอาจกวาดล้างทุกสิ่งในรัศมี 25 ไมล์เลยทีเดียว
จากข้อมูลของ DailyGalaxy.com ระบุว่าดาวเคราะห์เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ไมล์ ก็สามารถทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้จนหมดสิ้น และสันนิษฐานว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่านี้คือสาเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน