นาซาพบวัตถุอวกาศขนาดเล็กจะผ่านใกล้โลกในระยะ 12,000 กิโลเมตร หลังเที่ยงคืนวัน 27 มิ.ย. แต่จะไม่เป็นอันตราย แม้จะพุ่งชนโลกแต่ก็จะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ระบุเป็นโอกาสดีให้ได้ศึกษา
โจ ราโอ (Joe Rao) วิทยากรประจำท้องฟ้าจำลองไฮเดน (Hayden Planetarium) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ รายงานผ่านสเปซด็อทคอมโดยอ้างคำแถลงของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า หลังเที่ยงคืนวันที่ 27 มิ.ย.54 เวลา 00.14 น. ตามเวลาประเทศไทย วัตถุอวกาศขนาดเล็กจะผ่านโลกเข้าใกล้ที่ระยะ 12,000 กิโลเมตร โดยเคลื่อนผ่านเหนือท้องฟ้าของชายฝั่งในทวีปแอนตาร์กติกาไปถึงตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้รวมระยะทาง 3,218 กิโลเมตร
วัตถุอวกาศดังกล่าวเป็นวัตถุขนาดเล็กที่เพิ่งค้นพบเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกล้องโทรทรรศน์หุ่นยนต์คู่ลิเนียร์ (LINEAR) ซึ่งตั้งอยู่ในนิวเม็กซิโก สหรัฐฯ และทำหน้าที่ตรวจตราท้องฟ้าเพื่อค้นหาวัตถุอวกาศใกล้โลก โดยข้อมูลละเอียดที่สุดระบุวัตถุอวกาศนี้มีความกว้างประมาณ 9-30 เมตร และนักวิทยาศาสตร์นาซาตั้งชื่อวัตถุอวกาศดังกล่าวว่า 2011 เอ็มดี (2011 MD)
จากข้อมูลของสำนักงานศึกษาวัตถุใกล้โลก (Near-Earth Object Office) ของนาซา ที่ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ในพาซาดีนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าวัตถุอวกาศขนาดนี้จะผ่านใกล้โลกโดยเฉลี่ยทุก 6 ปี
“ไม่มีทางที่ 2011 เอ็มดีจะพุ่งชนโลก แต่นักวิทยาศาสตร์จะใช้โอกาสการเข้าใกล้โลกเพื่อศึกษาวัตถุนี้" นักวิทยาศาสตร์โครงการเฝ้าระวังวัตถุอวกาศ (Asteroid Watch program) ของนาซาระบุ และได้ทวีตผ่านทวิเตอร์เมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า หากวัตถุอวกาศที่มีลักษณะเป็นหินขนาดน้อยกว่า 25 เมตรผ่านชั้นบรรยากาศโลกจะแตกสลายไปก่อนและไม่ตกถึงพื้นโลก
แม้ว่า 2011 เอ็มดีจะเข้าใกล้โลกมากแต่ยังไม่มากที่สุด โดยวัตถุอวกาศที่เข้าใกล้โลกมาที่สุดเมื่อเร็วๆ นี้คือ 2011 ซีคิว1 (2011 CQ1) ที่เข้าใกล้โลกในระยะ 5,471 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ของปีนี้