xs
xsm
sm
md
lg

นร.สุราษฎร์พิทยาพา “พลาสติกจากเกล็ดปลา” คว้า 5 รางวัลโครงงานวิทย์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.อารดา สังขนิตย์ (ซ้าย) นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ (กลาง) และ น.ส.ธัญพิชา พงศ์ชัยไพบูลย์ (ขวา) เจ้าของโครงงาน “พลาสติกจากเกล็ดปลา” จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา ที่คว้าถึง 5 รางวัลในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก
ในการสร้างสรรค์ “โครงงานวิทยาศาสตร์” มีหลายผลงานที่เด็กไทยได้สร้างชื่อเสียงให้ประจักษ์ในระดับนานาชาติมาแล้วหลายชิ้น ล่าสุดกับ “โครงงานพลาสติกจากเกล็ดปลา” จาก "สุราษฎร์พิทยา" ที่สามารถพิชิตใจกรรมการ จนคว้า 5 รางวัลจาก 2 เวทีใหญ่ระดับโลกได้สำเร็จ อีกทั้งยังเป็นชาติที่ 2 ในเอเชียและชาติแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับรางวัลนักวิทย์รุ่นเยาว์ พร้อมกับโครงงานจาก "กันทรารมณ์" และ "จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย" ที่ก็พกรางวัลกลับบ้านมาให้ได้ภูมิใจกัน

“พลาสติกจากเกล็ดปลา” (Bio-based Packaging Plastics from Fish Scale) โครงงานวิทยาศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนชั้น ม.ปลาย จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรางวัลใหญ่ถึง 5 รางวัล จากการประกวดใน 2 เวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือน พ.ค.54 ที่ผ่านมา

เวทีแรกคือ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ไอสวีป 2011 (I-SWEEEP 2011) ผลงานดังกล่าวได้รับ 2 รางวัลคือ เหรียญทอง และรางวัลพิเศษด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

อีกเวทีที่ "พลาสติกจากเกล็ดปลา" คว้ามาได้ถึง 3 รางวัลคือ การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรืออินเทลไอเซฟ 2011 (Intel ISEFF : Intel International Science and Engineering Fair 2011) โดยได้รับ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์”, รางวัลที่ 1 ประเภทแกรนด์ อวอร์ดส์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม และยังได้รางวัล "เบสต์ ออฟ แคตากอรี อวอร์ดส์" ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม

เจ้าของผลงาน นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ, น.ส.ธัญพิชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และ น.ส.อารดา สังขนิตย์ 3 นักเรียนจากสุราษฎร์พิทยา เปิดเผยหลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.54 ว่า รางวัลที่พวกเขาได้รับนับว่ายิ่งใหญ่มาก เนื่องจากคณะกรรมการผู้ตัดสินจะเลือกเพียง 2 โครงงาน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 443 โครงงาน 17 สาขา รวม 65 ประเทศ ที่มีความคิดสร้างสรรค์สุดยอดเท่านั้น

ด้วยแนวคิดนำสิ่งเหลือทิ้งที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างเกล็ดปลา มาทำให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว จนทำให้ทีมจาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา สามารถพิชิตใจกรรมการในครั้งนี้มาได้ และถือเป็นชาติที่ 2 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับรางวัลยิ่งใหญ่จากเวทีอินเทลไอเซฟได้สำเร็จ

ทีมจาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา เล่าถึงที่มาของการทำโครงงานว่า ในแต่ละวัน มีการใช้พลาสติกประเภทโฟมอยู่จำนวนมาก ทั้งขั้นตอนการผลิตและการทำลายล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดที่อยากจะนำของเหลือทิ้งมาผลิตทดแทนโฟม

หลังจากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มจากการสังเกตเจลาติน หรือวุ้นจากขนมเยลลี ที่มีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายพลาสติก แล้วค้นคว้าหางานวิจัยประกอบ พบว่าเจลาตินสามารถทำได้จากวัตถุดิบหลายชนิด ทีมจึงเลือกที่จะทำจากเกล็ดปลา เนื่องจากหาง่ายและเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากครัวเรือน

“แต่เราได้เลือกเกล็ดปลากะพงมาใช้ เนื่องจากได้มวล และความแข็งแรงสูง เมื่อนำมาผลิตเป็นเจลาตินและใช้ภาชนะเป็นแบบ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใส่อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายได้ภายใน 28 วัน ต้นทุนการผลิตก็ถูกกว่าโฟมอีกด้วย” น.ส.อารดาอธิบาย

นอกจากนี้ นายพรวสุ สมาชิกทีมยังบอกอีกว่า การศึกษาและการทดลองโครงงานชิ้นนี้ ใช้เวลานานร่วมปี กว่าจะสำเร็จออกมาได้ หลังจากนี้จะพัฒนาและทดลองให้พลาสติกจากเกล็ดปลาสามารถนำไปใช้ในเตาไมโครเวฟได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 คน ยังเผยเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ด้วยว่า พวกเขาได้ทำอย่างเต็มที่ หมั่นหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง น.ส.ธัญพิชา บอกว่าการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่อยู่ในห้องเรียนเท่านั้น ต้องมีการทดลอง ศึกษา จนสามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปแข่งขันจนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ

ที่สำคัญ ทีมที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของมูลนิธิอินเทลนั้น ชื่อของพวกเขาจะได้รับเกียรติไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อย โดยน้องๆ ทั้ง 3 คน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก และถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปหันมาศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นด้วย

ในวันเดียวกันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เดินทางมาแสดงความยินดีกับคณะเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลใหญ่กลับประเทศ โดยกล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของเด็กไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้นำผลงานไปเข้าแข่งขันในเวทีระดับโลกจนคว้าชัยมาได้สำเร็จ ถือเป็นการเรียนรู้ประสบการใหม่ และคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ดีในอนาคตได้ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันในมหกรรมการประกวดดังกล่าว เป็นความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทริกและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.กับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แลบริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ในเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ในปีนี้ ยังมีทีมนักเรียนไทยได้รับรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์อีกเชนกัน โดยนายนรินธเดช เจริญสมบัติ, นายธนทรัพย์ ก้อนมณี และ น.ส.วรดา จันทร์มุข จาก ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี ได้รับรางวัลที่ 4 ประเภท แกรนด์ อวอร์ด สาขาวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมชีวเวช จากโครงงานการนำผลของฟิลม์มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักมาใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวด้วย

อีกทั้ง ร.ร.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ สามารถคว้าเหรียญเงินจากเวทีนี้ได้เช่นกัน จากโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือนด้วยอาร์ดิโน (Arduino) พัฒนา โดย นายกิตติ์ ธเนศธนะรุ่งโรจน์ทวี, นายฉัตรชัย จันทะศิลา และนายอภิสิทธิ์ รังสิมาวงศ์

อย่างไรก็ดี ตัวแทนทีมจาก จาก ร.ร.กันทรารมณ์ ได้เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การแข่งขันครั้งนี้นอกจากได้รางวัลแล้วยังทำให้พวกเขาทั้ง 12 คน จาก 5 ทีม ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยได้ประสบการณ์หลายด้าน ทั้งการเรียนรู้จากเพื่อนต่างชาติ การฝึกใช้ภาษา ตลอดจนได้เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม ทั้งยังได้ฝึกคิดฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็น ถือว่าคุ้มมากสำหรับสิ่งที่ได้กลับมา

ชมคลิปทีมสุราษฎร์พิทยากล่าวหลังรับรางวัล และนำเสนอผลงาน



สรุปผลรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ จากทั้ง 2 เวทีที่เด็กไทยได้รับ ดังนี้

1. การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ "ไอสวีป 2011" (I-SWEEEP 2011 : The 4th International Sustainable World (Energy, Engineering, and Environment) Project Olympiad) ที่เมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ค.54

- โครงงาน "พลาสติกจากเกล็ดปลา" จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยาได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษประเภททีมสาขาสิ่งแวดล้อม เอ็นเอซี เอนไวรอนเมนทัล เฟรนด์ลี เทคโนโลยี อวอร์ด (NAC Environmental-Friendly Technology Award)

- โครงงาน "การออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือนด้วยอาร์ดูโน (Arduido)" จาก ร.ร.กัณทรารมณ์ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

2.การประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ "อินเทลไอเซฟ 2011" (Intel ISEFF : Intel International Science and Engineering Fair 2011) ที่นครลอสแองเจอลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 8-13 พ.ค.54

- โครงงาน "พลาสติกจากเกล็ดปลา" จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา รับ 3 รางวัลคือ 1.รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของมูลนิธิอินเทล (Intel Foundation Young Scientist Award) ได้รับรางวัล 50,000 เหรียญสหรัฐ 2.รางวัลที่ 1 ประเภทแกรนด์ อวอร์ดส์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม (Grand Award, Environment Management) ได้รับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 3.รางวัล "เบสต์ ออฟ แคตากอรี อวอร์ดส์" สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม (Intel ISEF Best of Category Award, Environment Management) ได้รับเงินรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

- โครงงาน "ผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักต่อการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการเก็บเกี่ยว" จาก ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ได้รับรางวัลที่ 4 แกรนด์อวอร์ด สาขาวัสดุศาสตร์ ได้รับรางวัลมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี นอกจากความสำเร็จของทั้ง 5 ทีมที่ได้รางวัลกลับมา ยังเป็นปีที่โครงงานวิทยาศาตสตร์ของเด็กไทยได้รับรางวัลสูงสุด โดยจากผลงานของทีม ร.ร.สุราษฎร์พิทยา ที่คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากมูลนิธิอินเทล นับได้ว่าเป็นชาติที่ 2 ในเอเชีย และยังเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับรางวัลนี้

ทั้งนี้ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกอินเทลไอเซฟ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในส่วนของประเทศไทยได้ส่งเยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และการประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากเนคเทคเข้าแข่งขัน.
ทีม นร.ร.ร.สุราษฎร์พิทยาบนเวทีแห่งชัยชนะ
นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ (ซ้าย) น.ส.ธัญพิชา พงศ์ชัยไพบูลย์ (กลาง) และ น.ส.อารดา สังขนิตย์ (ขวา) เจ้าของโครงงาน “พลาสติกจากเกล็ดปลา” (ECO PLASTIC) จาก ร.ร.สุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้ไปคว้า “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของมูลนิธิ อินเทล” และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รางวัลนี้ ขณะกลับถึงประเทศไทยหมาดๆ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.54
ภาพบรรยากาศนักเรียนไทยทั้งหมด 12 คน ได้ร่วมกันตัดเค้ก เพื่อเฉลิมฉลองที่ได้คว้ารางวัลการประกวดโครงงานระดับโลกมาได้สำเร็จ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายกิตติ์ ธเนศธนะรุ่งโรจน์ทวี (ซ้าย) นายฉัตรชัย จันทะศิลา  (ขวา) และนายอภิสิทธิ์  รังสิมาวงศ์ (กลาง)  ทีมจาก ร.ร.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ ที่สามารถคว้าเหรียญเงิน โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือนด้วย Arduino พัฒนา จาก เวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ  ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ค.54 ที่ผ่านมา
นายนรินธเดช เจริญสมบัติ (ซ้าย) นายธนทรัพย์ ก้อนมณี  (ขวา) และน.ส.วรดา จันทร์มุข (กลาง) จาก ร.ร.จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี ได้รับรางวัลที่ 4 ประเภท แกรนด์ อวอร์ด สาขาวิศวกรรมวัสดุและวิศวกรรมชีวเวช พร้อมได้รับทุนการศึกษา 500 เหรียญสหรัฐ จากโครงงานการนำผลของฟิลม์มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักมาใช้ในการยืดอายุการเก็บ รักษาผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวด้วย
หลังเด็กไทยทั้ง 12 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.54  ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช. ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีด้วย
ภาพบรรยากาศครอบครัว ญาติพี่น้อง ได้เดินทางมาต้อนรับและร่วมแสดงความยินดีกับลูกหลานของตัวเอง ที่ได้ไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก จนสามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น