ในขณะที่การฉลองวาระการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศครบครึ่งศตวรรษเป็นไปอย่างครึกโครม เรื่องราวของ “ยูริ กาการิน” ที่ขึ้นไปโคจรรอบโลก 108 นาทีถูกนำกลับมาฉายซ้ำ ก็มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ความสำเร็จเมื่อ 50 ปีก่อ นอาจเป็นเพียงโครงการอวกาศที่สูญเงินเปล่า
ทั้งผู้นำประเทศและองค์การอวกาศ ต่างยืนกรานว่า ปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศนั้นยังคงเป็นหัวใจสำคัญของโครงการอวกาศเสมอ และมนุษย์อวกาศไม่ว่าเขาหรือเธอสามารถแสดงไหวพริบและความคิดอันสร้างสรรค์ในแบบที่เครื่องจักรกลทำไม่ได้
ด้านผู้คัดค้านกลับมองว่า ความต้องการส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจอวกาศนั้น เป็นเพียงความกระหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศ หรือเป็นการวิ่งเต้นของอุตสาหกรรมอวกาศ หนักกว่านั้น อาจเป็นความต้องการของนักบินอวกาศเอง โดยเอเอฟพีได้ยกเหตุผลที่ฝ่ายค้านเสนอว่า เที่ยวบินอวกาศที่ควบคุมโดยมนุษย์นั้น ดูดเอาทุนจากโครงการส่งหุ่นยนต์และยานอวกาศ ที่ให้องค์ความรู้และประโยชน์ที่ใช้ได้จริงมากกว่า แต่ใช้ทุนน้อยกว่าโดยไม่ต้องเอาชีวิตใครไปเสี่ยง
“ผู้คนตื่นเต้นกับเที่ยวบินที่มนุษย์ควบคุมมาก แต่พวกเขากลับไม่ฉุกคิดว่า อะไรคือผลประโยชน์ที่จะได้กลับมา นอกจากความตื่นเต้นแล้ว ไม่มีอะไรที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างจริงจัง” เจอราร์ด เดอกรูต (Gerard DeGroot) ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ (University of St. Andrews) จากสก็อตแลนด์ ให้ความเห็น
เดอกรูตกล่าวว่า แต่ละวันสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) วนซ้ำเส้นทางที่ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) มนุษย์อวกาศคนแรก เคยผ่านในวงโคจรระดับต่ำของโลก ในเวลาเดียวกัน ยานสอดแนมที่ไม่เคยป่าวประกาศตัวเอง ก็ส่งข้อมูลความลับของดาวเสาร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดวงอาทิตย์ พร้อมด้วยข้อมูลดาวหางและดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก
ที่โลกเองดาวเทียมทหาร ทำให้เรามีอินเทอร์เน็ตใช้ มีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาถูก ให้บริการข้อมูลนำทางแก่สายการบินและรถยนต์ และยังให้ข้อมูลมากมาย เกี่ยวกับระบบสภาพอากาศและอนามัยสิ่งแวดล้อมของโลกแก่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย
“ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดที่กล่าวนี้ เป็นผลมาจากเที่ยวบินควบคุมโดยมนุษย์” เดอกรูต ผู้แต่งหนังสือ “ด้านมืดของดวงจันทร์” (Dark Side of the Moon) และผู้ตรวจสอบโครงการอะพอลโลที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง
เขากล่าวด้วยว่าโครงการอะพอลโลนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศนั้นอันตราย และต้องใช้ความสามารถทางวิศวกร เพียงเพื่อให้เขาเหล่านั้นรอดและพากลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์เป็นสถานที่อันโหดร้าย และเหนือสิ่งใดคือการแสดงถึงมูลค่ามหาศาลที่ต้องจ่ายให้แก่เที่ยวบินมนุษย์
“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า ไม่มีใครตระหนัก แม้กระทั่งย้อนไปเมื่อปี 1961 นั่นคือ เที่ยวบินมนุษย์นั้นแพงมหาศาล และเป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีเคนเนดี (Kennedy) เพิ่งนึกได้ หลังจากที่เขาประกาศโครงการอะพอลโลเมื่อเดือน พ.ค.1961 ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งมนุษย์ไปอวกาศยังคงมีอยู่ท่ามกลางความปรารถนาของมนุษย์ แต่การหาวิธีที่จะทำให้ถูกนั้นยากมากๆ” แคธลีน ลูอิส (Cathleen Lewis) ภัณฑรักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ทางอากาศและอวกาศสมิทโซเนียน (Smithsonian National Air and Space Museum) ในวอชิงตัน ให้ความเห็น
อย่างการประกาศส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง หรือการเสี่ยงภัยไปสำรวจดาวอังคารนั้น นักการเมืองต่างพูดจาโอ้อวดดูเกินจริง แต่เอาเข้าจริงพวกเขากลับไม่กระตือรือร้นที่จะจ่ายเงิน
ฟรานซิส โรคาร์ด (Francis Rocard) ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจระบบสุริยะ ของศูนย์ศึกษาอวกาศฝรั่งเศส (National Centre of Space Studies: CNES) กล่าวว่า เงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.5 แสนล้านบาท) ที่ใช้ไปในโครงการอะพอลโลเมื่อปี 1969 นั้นจะมีมูลค่าเป็น 1.65 แสนล้านดอลลาร์ (5 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน
“การส่งคนไปดาวอังคารจะแพงกว่านั้นมากๆ อาจจะถึง 2-3 แสนล้านดอลลาร์ (6-9 ล้านล้านบาท) แต่ปฏิบัติปราศจากมนุษย์ที่นำตัวอย่างดินกลับมายังโลกด้วยนั้นน่าจะใช้เงินระหว่าง 0.5-1 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.5-3 แสนล้านบาท)” โรคาร์ดกล่าว
ปฏิบัติการแคสสินี-ฮอยเกนส์ (Cassini-Huygens) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปในการสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์ของดาวเสาร์นั้น ใช้เงินของผู้เสียภาษี 3.25 พันล้านดอลลาร์ (9.75 หมื่นล้านบาท) ส่วนยานสปิริต (Spirit) และยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity) ในปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ใช้เงิน 820 ล้านดอลลาร์ (9600 ล้านบาท)
การประชันกันระหว่างโครงการส่งมนุษย์และหุ่นยนต์ไปอวกาศ ทำให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลายในหมู่นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการแย่งชิงงบประมาณประจำปี แม้ว่าเสียงส่วนน้อยที่สนับสนุนปฏิบัติการส่งหุ่นยนต์จะหัวเราะเยาะปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศ แต่พวกเขาก็ตระหนักอย่างเงียบๆ ว่า การมีโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศสักคนหรือสองคนนั้น เป็นประโยชน์ทางการเมือง การมีมนุษย์อยู่บนอวกาศนั้นดึงความสนใจจากคนหมู่มาก และทำให้ได้งบประมาณ
ด้าน ฌาคส์ อาร์นูล์ด (Jacques Arnould) นักเทววิทยาและพระโดมินิกัน ซึ่งเป็นนักวิจัยประจำ ศูนย์ศึกษาอวกาศฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า ภาพอันชวนเบิกบานใจที่ส่งกลับมายังโลก โดยยานสำรวจอวกาศที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถไว้ใจเครื่องจักรให้เป็นหูเป็นตาและเป็นไม้เป็นมือแทนเราในอวกาศได้
“มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีความสามารถมากมายอยู่เต็มไปหมด เราไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์อย่างกาการินที่จะเอ่ยคำว่า ‘อา...ดาวอังคารช่างเป็นดาวเคราะห์แสนสวย” แต่มีวิธีอีกมากมายที่เราสามารถนำเสนอต่อโลกได้โดยไม่ต้องเอาตัวเราออกไปอวกาศ” พระนักวิจัยให้ความเห็น