เหตุดาวเทียมชนกันอาจจะเกิดขึ้นอีก (มาก) ในวันข้างหน้า เพราะนับวันวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถนำไปโคจรนอกโลกมากขึ้นทุกขณะ อีซาจึงเริ่มโครงการตรวจตราเศษซากวัตถุที่โคจรอยู่รอบโลก พร้อมทั้งชวนองค์การอวกาศทั่วโลก ตั้งมาตรฐานการจัดการ เพื่อป้องกันการชนกันหรือระเบิดของเศษวัตถุเหล่านั้นเหนือพื้นโลก
สำนักข่าวเอพี รายงานถ้อยแถลงขององค์การอวกาศแห่งยุโรป หรือ อีซา (European Space Agency : ESA) เมื่อวันที่ 16 ก.พ.52 ที่ผ่านมา ว่าทางองค์กรได้ทุ่มเงินมูลค่า 50 ล้านยูโร (ประมาณ 2,200 ล้านบาท) เพื่อตั้งโครงการ "ความตระหนักถึงสถานการณ์อวกาศ" (Space Situational Awareness) เพิ่มข้อมูลข่าวสารให้แก่เหล่านักวิทยาศาสตร์ภาคพื้นดิน ที่รับหน้าที่ดูแลดาวเทียม พร้อมทั้งวัตถุอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งโคจรรอบโลกมากกว่า 12,000 ชิ้น
ฌอง-ฟรังซัวร์ เคาเฟอเลอร์ (Jean-Francois Kaufeler) ผู้เชี่ยวด้านเศษวัตถุอวกาศ ของอีซา เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ก็เกิดเหตุดาวเทียมชนกัน สร้างขยะอวกาศโคจรรอบโลก และจะสามารถทำอันตรายดาวเทียมอื่นๆ ได้ยาวนานถึง 10,000 ปี
"จากอุบัติเหตุครั้งล่าสุด แสดงให้เห็นว่า พวกเราต้องทำอะไรมากกว่านี้ พวกเราจำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการชนกันครั้งต่อๆ ไป" เคาเฟอเลอร์กล่าว
การชนกันครั้งล่าสุด ห่างจากโลกไป 800 กิโลเมตร เหนือท้องฟ้าไซบีเรีย โดยดาวเทียมสื่อสารทางการทหารปลดระวางของรัสเซีย และดาวเทียมอิเรเดียมของเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงระยะการใช้งาน ทั้งในการพาณิชย์และกิจการกลาโหมของสหรัฐฯ
จุดประสงค์สำคัญของโครงการนี้ ก็เพื่อเพิ่มปริมาณข้อมูลให้แบ่งปันกันทั่วโลก ระหว่างองค์กรอวกาศต่างๆ รวมถึงองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และองค์การรอสคอสมอสของรัสเซีย
เคาเฟอเลอร์ ยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีการตั้งมาตรฐานนานาชาติ ในการจัดการกับเศษขยะอวกาศ ทั้งการตั้งนิยามของเศษซากวัตถุ การติดตามร่องรอย และการเคลื่อนย้ายวัตถุเหล่านั้น ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เมื่อมีสัญญาณของการชนกัน
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดกว่า ขยะอวกาศรอบโลกที่เกิดจากการระเบิดหรือชนกันนั้น มีจำนวนมากน่อยแค่ไหน และมีขนาดใหญ่เท่าใดกันแน่
ทั้งนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเศษวัตถุอวกาศ จะประชุมกันอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างการสัมมนาสหประชาชาติ โดยเชื่อว่าจะมีหนทางที่ดีกว่าในการป้องกันการชนกันในอนาคต อีกทั้งยังมีเวทีคุยเรื่องเศษวัตถุอวกาศของอีซาเป็นการเฉพาะในเดือน มี.ค. (the 5th European Conference on Space Debris in March)
"เราต้องการความแม่นยำบนอวกาศมากกว่านี้" เคาเฟอเลอร์ย้ำ เพราะระบบการวัดเศษวัตถุอวกาศในปัจจุบัน ยังไม่แม่นยำและเที่ยงตรงมากพอ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังกล่าวอีกว่า ทั้งอีซาและนาซาต่างก็ไม่สามารถคาดการณ์การชนกันของดาวเทียมทั้ง 2 ได้ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะเตือนมากว่า 2 ทศวรรษแล้วว่าจะต้องมีเหตุการณ์ทำนองนี้
"ปัญหาของเศษซากวัตถุอวกาศยังมีความพิเศษแตกต่าง พวกเราต้องทำงานร่วมกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา" เคาเฟอเลอร์กล่าว .