xs
xsm
sm
md
lg

ปิดจ็อบภารกิจซ่อม "ฮับเบิล" ต่อชีวิตดวงตาแห่งโลกได้อีก 5-10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮับเบิลขณะโคจรอยู่ในห้วงอวกาศ ทำหน้าที่เป็นดวงตาให้ชาวโลก คอยเสาะหาข้อมูลให้แก่นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 19 ปี ดูภายนอกยังแข็งแรง แต่อุปกรณ์ต่างๆ ภายในหลายชิ้นใช้การไม่ได้มาหลายปี ครั้งนี้นาซาส่งแอตแลนติสพร้อมลูกเรือไปซ่อมแซมต่อชีวิตให้อยู่ไปได้อย่างน้อย 5 ปี (AFP PHOTO/NASA VIDEO)
ในที่สุดก็ถึงเวลาที่เหล่านักบินอวกาศได้เอ่ยคำอำลา "ฮับเบิล" หลังปฏิบัติภารกิจสุดเสี่ยง เติมพลังและอุปกรณ์ไฮเทค เพื่อให้ดวงตาของโลกอายุ 19 ปีสามารถปฏิบัติภารกิจบันทึกภาพจักรวาลต่อไปได้อีก 5-10 ปี ระหว่างที่นาซายังคิดไม่ตกว่าจะปล่อยให้เครื่องมือชิ้นสำคัญแห่งวงการดาราศาสตร์ลอยเป็นขยะอวกาศหลังหมดอายุการใช้งานหรือไม่

เมื่อเวลาประมาณ 19.35 น. ของวันที่ 19 พ.ค.52 ที่ผ่านมา เหล่านักบินอวกาศประจำยานแอตแลนติส กำลังช่วยกันบังคับแขนยนต์ เพื่อให้ยานหลุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ทำหน้าที่สำรวจอวกาศถึง 19 ปี กลับสู่วงโคจรอีกครั้ง หลังปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศถึง 5 ครั้ง ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา เพื่อต่อชีวิตให้ฮับเบิลยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปได้อีกระยะหนึ่ง

ทันทีที่แอตแลนติสเชื่อมต่อกับกล้องฮับเบิลเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ลูกเรือ 4 ใน 7 นายของแอตแลนติสได้ออกปฏิบัติภารกิจนอกยาน หรือที่เรียกกันว่า "เดินอวกาศ" (spacewalk) เพื่อออกไปติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่ที่ทำให้อุปรกรณ์ของฮับเบิลทรงพลังกว่าเดิมจำนวน 2 ชิ้น พร้อมทั้งอัปเกรดอุปกรณ์ต่างๆ และซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหาย 2 จุด นับเป็นความพยายามซ่อมชุดใหญ่กลางอวกาศแบบที่ไม่เคยมีภารกิจใดหนักหน่วงเท่าครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ระหว่างการออกเดินอวกาศครั้งที่ 4 เพื่อปลุกเครื่องบันทึกภาพสเปกโตรกราฟ (Hubble's Space Telescope Imaging Spectrograph) ของฮับเบิลนั้น เกิดหวาดเสียวเล็กน้อย เมื่อนักบินอวกาศ 2 นายที่นำการเดินอวกาศกำลังเปลี่ยนแบตเตอรีให้กล้องดังกล่าว ทว่า 2 นักบินไมค์ มาสซิมิโน และกูด (Mike Massimino, Mike Good) เกิดลอยไปด้านหลังขณะกำลังซ่อมแซมกล้องดังกล่าว แต่ก็ไม่มีเหตุร้ายใดๆ

ในที่สุด กล้องบันทึกภาพสเปกโตรกราฟที่ทำงานไม่ได้มากว่า 5 ปีก็กลับมาชีวิตอีกครั้ง หลังจากนักบินอวกาศเสี่ยงชีวิตออกไปเปลี่ยนแหล่งพลังงาน และนาซาก็ได้ทดสอบประสิทธิภาพเป็นที่เรียบร้อย

"เมื่อคืนที่ผ่านมายากจะหลับตาลง หลังจากออกไปเดินอวกาศ ภาพของการทำงานยังติดอยู่ในหัว" มาสซิมิโน ส่งความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ไมโครบล็อกข้อความสั้นๆ จากอวกาศ ให้ชาวโลกที่ได้ติดตามเขาได้รับรู้

ลูกเรือแอตแลนติสได้จัดการต่อเติมปรับแต่งให้ฮับเบิลมีชีวิตต่อไปได้อีกอย่างน้อย 5 ปี

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจว่าการปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมและต่อชีวิตให้ฮับเบิลครั้งนี้ได้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ การให้นักบินอวกาศออกไปเดินอวกาศเพื่อตรวจตราเป็นครั้งที่ 5 จึงเกิดขึ้น ก่อนที่แอตแลนติสจะจากลาออกมาในครั้งสุดท้าย ตรวจตราเพื่อให้แน่ใจว่าฮับเบิลจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจได้อย่างน้อยอีก 5 ปีตามที่ตั้งเป้าไว้

จากภารกิจครั้งนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) เปิดเผยว่า ภารกิจสู่ฮับเบิลในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การซ่อมแซมให้ฮับเบิลโคจรอยู่ได้ชั่วคราว แต่เป็นการยืดชีวิตให้ดวงตาแห่งโลกยาวนานไปอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อทำหน้าที่บันทึกภาพซึ่งนำไปสู่การไขปริศนาเร้นลับแห่งจักรวาล

"ฮับเบิลกลับมาอยู่ในสถานภาพที่สำคัญเหมือนเดิม เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ของเหล่านักดาราศาสตร์ที่รอดูอยู่ที่พื้นโลก งานของพวกเราเพิ่งจะเริ่มขึ้น ยังมีนักดูดาวนับพันๆ คนรอข้อมูลจากฮับเบิล" จอน มอร์ส (Jon Morse) หัวหน้าโครงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของนาซากล่าว

"ฮับเบิลไม่ใช่แค่ดาวเทียม หรืออุปกรณ์โคจรรอบโลก แต่นับเป็นการสำรวจของมวลมนุษยชาติ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้" มอร์สกล่าวเสริม

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดภารกิจซ่อมแซมฮับเบิล เมแกน แมคอาร์เธอร์ (Megan McArthur) ผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจ ได้ค่อยๆ ถอนแขนกลของยานแอตแลนติสที่ยึดอยู่กับกล้องฮับเบิลออกมาอย่างช้าๆ เพื่อให้ฮับเบิลได้ลอยไปตามวงโคจรอย่างปกติ ก่อนจะบังคับยานให้ออกห่างจากตัวกล้องโทรทรรศน์ ในระยะที่ปลอดภัย และจุดระเบิดเดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 22 พ.ค. ณ ศูนย์อวกาศเคนนาดี ในมลรัฐฟลอริดา

ภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลครั้งนี้ นับว่าเป็นปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงสูง มากกว่าการส่งลูกเรือขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติ เพราะตัวยานและกล้องอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับวงโคจรของเศษซากอวกาศทั้งจากดาวเทียมระเบิดและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนาซาตัดสินใจอยู่นานว่าจะปล่อยกล้องชิ้นสำคัญตัวนี้ให้หมดอายุและลอยเป็นขยะอวกาศ หรือซ่อมต่อชีวิตไปก่อน จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตมานำพากล้องกลับสู่โลก

อีกทั้ง ตั้งแต่ส่งฮับเบิลขึ้นไปประทับวงโคจรปฏิบัติภารกิจเป็นดวงตาให้ชาวโลกบนอวกาศตั้งแต่ปี 2533 ก็มีการส่งนักบินอวกาศไปบริการซ่อมบำรุงเรื่อยมา คือปี 2536, 2540, 2542 และครั้งสุดท้ายคือปี 2547 ที่ผ่านมาเพื่ออัปเกรดกล้องโทรทรรศน์กับอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ชนิดใหม่ และเปลี่ยนส่วนที่เสีย แต่แล้วในที่สุดนาซาก็ตัดสินใจเริ่มภารกิจซ่อมฮับเบิลเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี 2549 การเตรียมการต่างๆ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

อย่างไรก็ดี นาซายังไม่มีแผนการอื่นๆ ในอนาคตกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเก่าแก่ตัวนี้ เมื่อมันหมดอายุการใช้งานจริงๆ เพราะลำพังบรรดากระสวยอวกาศของนาซาที่เหลือ 3 ลำนั้น ก็มีกำหนดปลดระวางทั้งหมดภายในปีหน้า

ทว่า นาซาเริ่มเอ่ยให้ชาวโลกใจชื้นว่า นี่อาจไม่ใช่ภารกิจครั้งสุดท้ายที่จะอำลาฮับเบิล บางทีในช่วงปี พ.ศ.2563 นาซาอาจจะส่งยานอวกาศอัตโนมัติมานำฮับเบิลลงสู่สุสาน ซึ่งก็คือใต้มหาสมุทรอันกว้างใหญ่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินของพวกเรา.
แขนยนต์ของแอตแลนติสเข้ายึดฮับเบิลไว้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เพื่อจะได้ปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมฮับเบิล (AFP PHOTO/NASA VIDEO)
นาซาบอกว่าถือเป็นภารกิจที่เสี่ยงสุดๆ เพราะไม่ค่อยต้องซ่อมอะไรกลางอวกาศมากมายขนาดนี้ (AFP PHOTO/NASA/HO)
การสเปซวอล์กครั้งสุดท้าย เพื่อตรวจตราความเรียบร้อย ก่อนปล่อยฮับเบิลล่องลอยไป แบบที่จะมีมีการซ่อมอีก (AFP PHOTO/NASA/HO)
ในการเดินอวกาศครั้งที่ 3 นักบินต้องเคลื่อนย้ายกล้องอุปกรณ์กล่องใหญ่ Corrective Optics Space Telescope Axial Replacement (COSTAR) ที่จะใช้ติดตั้งแทนของเก่า และเพิ่มเติมให้ทันสมัยขึ้น (AFP PHOTO/NASA VIDEO)
แขนกลยักษ์จากยานแอตแลนติสใช้ยึดติดกับตัวกล้องฮับเบิล เพื่อให้นักบินอวกาศออกไปซ่อมแซมได้โดยง่าย (AFP PHOTO/NASA VIDEO)
ไมค์ กูด ระหว่างการเดินอวกาศครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เพื่อยกเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ของฮับเบิลให้ทำงานได้อย่างปกติ (AFP PHOTO/NASA/HO)
ไมค์ มาสซิมิโน ผู้เชี่ยวชาญประจำภารกิจของเที่ยวบินที่ STS-125 มองผ่านเข้ามาในแอนแลนติสเพื่อให้เพื่อนนักบินบันทึกภาพที่มีฮับเบิลและโลกและฉากหลัง ระหว่างภารกิจยืดชีวิตให้ฮับเบิล (AFP PHOTO/NASA VIDEO)
กำลังโหลดความคิดเห็น