xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมต้อนรับ "สุริยุปราคา" แห่งศตวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





แม้ว่าใต้ฟ้าเมืองไทย เราจะไม่ได้เห็น "สุริยุปราคาเต็มดวง" แต่ปรากฏการณ์สุริยคราสที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค.นี้ นับเป็นปรากฏการณ์แห่งศตวรรษ ที่เงามืดจะบดบังดวงอาทิตย์ยาวนานที่สุดในช่วง 100 ปี ดังนั้นการได้เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ แม้เป็นเพียงการชม "สุริยุปราคาบางส่วน" จึงนับว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ

ในวันที่ 22 ก.ค.52 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาบางส่วน" เหนือฟ้าเมืองไทย โดยเริ่มต้นในช่วงเช้าประมาณ 07.00 น. แล้วสิ้นสุดปรากฏการณ์ในช่วงประมาณ 09.00 น.

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสุริยุปราคาเต็มดวงในชุดซารอส (Saros) ที่ 136 ซึ่งเป็นชุดซารอสที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงยาวนานที่สุด โดยแนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และบริเวณที่คราสเกิดยาวนานที่สุดคือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เป็นเวลา 6 นาที 39 วินาที นับว่าครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ ชุดซารอสหมายถึงชุดของการเกิดคราสทุกๆ 18 ปี ซึ่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งเดิมทุกๆ 18 ปี ดังนั้นคราสที่เกิดขึ้นทุกๆ 18 ปีจะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งเวลาที่เกิด รูปแบบและระยะเวลาของการเกิดคราส ส่วนสุริยุปราคายาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 เห็นได้ในเมืองไทยเมื่อปี 2498 โดยเห็นคราสเต็มดวงยาวนานถึงราว 7 นาที ซึ่งตามทฤษฎีเกิดคราสเต็มดวงยาวนานที่สุดได้ 7.31 นาที

เนื่องจากการมองดวงอาทิตย์โดยตรงทำร้ายดวงตาจนถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้นทีมข่าววิทยาศาสตร์จึงรวบรวมวิธีชมสุริยุปราคาที่เหมาะสมมานำเสนอ





- แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar filter)
แผ่นกรองแสงหรือแว่นตาที่สร้างขึ้นมาสำหรับดูดวงอาทิตย์ ช่วยกรองแสงอาทิตย์จนสามารถส่องดูได้อย่างปลอดภัย โดยประกบอุปกรณ์ที่ดวงตาก่อนจะเงยหน้าชมดวงอาทิตย์





- หน้ากากเชื่อมเหล็ก
ถ้าบ้านใกล้เรือนเคียงทำกิจการเชื่อมเหล็ก ก็สามารถขอหยิบยืมใช้ส่องดวงอาทิตย์ได้ เพราะหน้ากากเชื่อมเหล็กสามารถป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ ได้เช่นเดียวกับแว่นตาดูดวงอาทิตย์




หันซีดีด้านนี้เข้าหาดวงอาทิตย์ แล้วมองปรากฎการณ์ผ่านบริเวณที่ไม่มีตัวหนังสือ

- แผ่นซีดี
ของง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวอย่างแผ่นซีดีหรือดีวีดีก็ใช้ดูดวงอาทิตย์ได้ดี เพียงหันด้านบันทึกข้อมูลเข้าหาตัว แล้วมองดวงอาทิตย์ผ่านบริเวณที่ไม่มีตัวหนังสือ หรือมองผ่านบริเวณไม่มีลวดลาย ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รับรองว่าปลอดภัย เนื่องจากแผ่นซีดีสามารถป้องกันรังสีอินฟราเรดที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้

แต่ระวัง! อย่ามองดวงอาทิตย์ผ่านช่องตรงกลางซีดี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น แนะนำว่าให้หาวัสดุดำทึบมาปิดช่องตรงกลางไว้





- กล้องรูเข็มดูสุริยุปราคาทางอ้อม
เราประดิษฐ์กล้องรูเข็มได้ง่ายๆ โดยเจาะรูเล็กๆ ที่แผ่นกระดาษแล้วใช้รับแสงอาทิตย์ พร้อมใช้ฉากรับแสงที่ส่งผ่าน โดยเราจะเห็นเป็นภาพหัวกลับ เมื่อเกิดสุริยุปราคาเงาของคราสที่บังดวงอาทิตย์จะปรากฏบนฉาก ซึ่งถ้าฉากรับภาพอยู่ใกล้รูเข็มจะได้ภาพขนาดเล็กสว่างมากและมีขอบคมชัด แต่ถ้าฉากรับภาพอยู่ไกลออกไปจากรูเข็มจะเห็นภาพดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขอบภาพจะมัวและสว่างน้อยลง





- ฝ่ามือประสานกัน
วิธีง่ายๆ ใกล้ตัวที่สุด ใช้โดยให้มีช่องว่างเล็กน้อยพอให้แสงผ่านได้ เมื่อเกิดสุริยุปราคาจะเกิดเงาคคล้ายคราสบังดวงอาทิตย์เช่นกัน นอกจากนี้เราอาจสังเกตแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านใบไม้ ซึ่งจะเกิดเงาที่คล้ายคราสบังดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน





- กระจกเงาสะท้อนคราส
ทำได้โดยเจาะกระดาษเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปิดที่กระจก แล้วใช้รับแสงอาทิตย์ โดยให้เงาสะท้อนไปตกกระทบที่ฉากรับภาพ





ตัดกระดาษเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปิดทับกระจกทั้งบาน




ใช้กระจกเงาซึ่งปิดทับด้วยกระดาษที่ตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สะท้อนแสงอาทิตย์ให้ตกลงที่ฉาก





ได้ภาพดวงอาทิตย์ตกกระทบที่ฉาก




ภาพแสดงเส้นทางพาดผ่านของแนวคราสสุริยุปราคาวันที่ 22 ก.ค.นี้ โดยแถบสีน้ำเงินเป็นบริเวณที่เห็นคราสบังเต็มดวง ส่วนบริเวณอื่นรวมทั้งประเทศไทยอยู่ในแนวเส้นสีฟ้าเห็นคราสบางส่วน เส้นสีชมพูเป็นบริเวณจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดปรากฏการณ์

เมื่ออุปกรณ์พร้อมแล้ว เพื่อให้การดูสุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค.ไม่เงียบเหงาจนเกินไป สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจัดกิจกรรมในวันที่เกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคา โดยจะมีการตั้งกล้องดูดวงอาทิตย์ แจกแว่นตา นิทรรศการการเกิดสุริยุปราคา ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้

ภาคกลาง – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์

ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาคตะวันออก – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งกล้องที่ จ. ระยอง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทย และ สดร. จัดกิจกรรมวันสุริยุปราคา ณ บริเวณวงเวียน 22 กรกฎาฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.




นักเรียนฝึกใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ก่อนชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเมื่อ 26 ม.ค.52 บริเวณล้านหน้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ซึ่งจัดกิจกรรมโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย




นักเรียนชมสุริยุปราคาบางส่วน เมื่อวันที่ 26 ม.ค.52 ที่ผ่านมา ผ่านกรองที่ปิดแผ่นกรองแสงอาทิตย์แล้ว ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดกิจกรรมโดย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา)




ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) พร้อมด้วยโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ 26 ม.ค.52 ที่ผ่านมา ตั้งกล้องโทรทรรศน์ซึ่งติดอุปกรณ์กรองแสง สำหรับสังเกตปรากฏการณ์

สะดวกจะดูที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือตามสถานที่จัดงานต่างๆ ใกล้ที่ไหนไปกันได้

แต่ขอย้ำอีกครั้งสุดท้ายว่า ไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาที แม้จะใช้แว่นสำหรับดูโดยเฉพาะก็ตาม และควรพักสายตาสักครู่ ก่อนดูต่อไป.
*** ไม่แนะนำ ***

กระจกรมควัน, ฟิล์มเสีย
แม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถสังเกตปรากฎการณ์สุริยุปราคาได้ ไม่ว่าจะเป็น กระจกรมควัน, ฟิล์มกรองแสงรถยนต์ และฟิล์มถ่ายรูปที่เสียแล้วนำมาซ้อนกันหลายๆ ชั้น ถ้าเราจัดการได้ไม่ดี อาจมีรอยขีดข่วน หรือรมควันได้ไม่สม่ำเสมอ นั่นจะส่งผลโดยตรงต่อดวงตาของเรา ทำให้ได้รับอันตรายจากรังสีของดวงอาทิตย์ได้

แว่นกันแดด, กล้องสองตา, กล้องถ่ายภาพ, ตาเปล่า
การมองดูดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยตาเปล่า รวมทั้งการมองผ่านแว่นตากันแดด และแม้กระทั่งมองผ่านกล้องต่างๆ นั้น ล้วนทำให้ตาบอดได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงเสี้ยวบางๆ ของดวงอาทิตย์



ตารางข้อมูลการเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในแต่ละพื้นที่ของไทย

จังหวัดเริ่มบัง (น.)บังมากที่สุด (น.)สิ้นสุดการบัง (น.)% การบดบัง
เชียงราย07.0208.0409.1469.0
อุบลราชธานี07.0908.1009.1945.4
กาญจนบุรี07.0508.0209.0644.5
กรุงเทพฯ07.0608.0309.0842.2
ภูเก็ต07.1308.0108.5523.2
นราธิวาส07.2008.0608.5716.6



* ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น