“งานมหกรรมสุริยุปราคา” คึกคักรับเทศกาลตรุษจีน นักเรียน-นักศึกษา หลายร้อย ร่วมชมปรากฏการณ์ที่จุฬาฯ พร้อมตั้งกล้องกรองแสงส่องดวงอาทิตย์กว่า 20 ตัว ฝ่ายจัดงาน เผย เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน และได้ใช้กล้องประโยชน์จากกล้องโทรทัศน์ที่ประกอบเอง
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 10 สถาบันจัดงาน “มหกรรมสุริยุปราคา” ในวันที่ 26 ม.ค.2552 ซึ่งมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการตั้งกล้องโทรทัศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์กว่า 20 ตัว ซึ่งเป็นกล้องที่ประกอบเองและกล้องที่สถานศึกษาซึ่งเข้าร่วมนำมาร่วมกิจกรรม
น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ซึ่งเข้าร่วมสังเกตปรากฏการณ์ และกิจกรรมภายในงาน ว่า สุริยุปราคาครั้งนี้น่าสนใจ เนื่องจากเกิดในช่วงเย็นใกล้เวลาเลิกงานและเลิกเรียน ทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม และอากาศร้อนในช่วงบ่ายให้เกิด “หมอกแดด” คือ ฝุ่นที่ลอยขึ้นเนื่องจากอากาศร้อน ทำให้ช่วยกรองแสงได้ส่วนหนึ่ง
“ส่วนสุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค.ที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นสุริยุปราคาที่เกิดในช่วงเช้าที่ทุกคนรีบไปทำงาน และไปโรงเรียน อีกทั้งยังอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงมีโอกาสที่จะเกิดเมฆบังหรือฝนตก ดังนั้นในวันดังกล่าว ทางลีซาจึงไม่จัดงานลักษณะนี้ แต่จะจัดงานอีกทีวันที่ 15 ม.ค.2553 ซึ่งมีคราสบังมากถึง 80% ในเมืองไทย โดยเห็นคราสบังได้มากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน” น.อ.ฐากูรระบุ
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ น.อ.ฐากูร ระบุว่า ไม่มีความน่าสนใจในทางวิทยาศาสตร์เท่าไหร่นัก เนื่องจากดวงจันทร์ผ่านดวงอาทิตย์แบบเฉียงๆ แต่ก็เป็นเวทีฝึกเด็ก โดยเอกสาร การดำเนินงาน และอุปกรณ์สำหรับชมสุริยุปราคานั้น เป็นผลงานของนิสิตและนักเรียนในโครงการของลีซา และยังได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์เอง ซึ่งได้นำมาใช้ประโยชน์ในงานนี้
ในส่วนของแผ่นกรองแสงที่ติดเข้ากับอุปกรณ์และกล้องโทรทัศน์นั้น เป็นวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ ที่เป็นแผ่นพลาสติกเคลือบโลหะ ซึ่งมีราคาตารางเมตรละประมาณหมื่นบาท โดยได้จัดซื้อมาทั้งหมด 2 ตารางเมตร และแบ่งเป็นวัสดุสำหรับทำแว่นตาชมสุริยุปราคา และวัสดุกรองแสงสำหรับกล้องโทรทรรศน์ ทั้งนี้ เป็นผลงานของนักเรียนและนิสิต
“สุริยุปราคาครั้งนี้น่าสนใจกว่า เพราะอากาศดีและเป็นช่วงเวลาหลังเลิกงาน เหมาะสำหรับรวมพล ต่อให้มีหมอกแดด ก็ช่วยตัดแสงดวงอาทิตย์ทำให้เห็นเป็นสีแดงสวย ส่วนวันที่ 22 ก.ค.เกิดสุริยุปราคาในช่วงเช้า คนส่วนใหญ่ไปทำงาน นักเรียนก็ไปเรียน และยังอยู่ในฤดูฝน อาจเกิดเมฆได้ เราจะจัดอีกทีวันที่ 15 ม.ค.2553 ซึ่งที่กรุงเทพฯ จะเห็นบังมากถึง 60%” นอ.ฐากูร กล่าว
ด้าน ด.ญ.สิรภัทร ภัทรเบญจพล นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ได้เดินมาร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมสุริยุปราคาครั้งนี้ร่วมกับคุณแม่ เนื่องจากทางโรงเรียนหยุดรับเทศกาลตรุษจีน และบอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ว่า อยากดูสุริยุปราคาของจริง เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน โดยปีที่ผ่านมาเคยไปดูที่ท้องฟ้าจำลองแต่ฟ้าปิดจึงอดดู
“ครั้งนั้นไม่เห็นเลยอยากเห็นของจริงในครั้งนี้" ด.ญ.สิรภัทร กล่าว
สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมงานมหกรรมสุริยุปราคาครั้งนี้ มีทั้งนักเรียนและนิสิตจากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม อาทิ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ และนักเรียนจาก จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "สุริยุปราคา" และบรรยากาศจากทั่วโลก
รวมข่าวสุริยุปราคา
- ว้าว!! ในที่สุดก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ”
- “สุริยุปราคา” ที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ
- ชมภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากทั่วโลก
- “มหกรรมสุริยุปราคา” คึกคักรับตรุษจีนที่จุฬาฯ
- เด็กๆ ตื่นตาดูสุริยุปราคาบนดาดฟ้ากระทรวงวิทย์
- เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกแล้ว ประเทศไทยดูได้ตั้งแต่ 15.53 น.
- เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
- สดร.ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา 26 ม.ค. นี้