xs
xsm
sm
md
lg

เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกแล้ว ประเทศไทยดูได้ตั้งแต่ 15.53 น.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพส่งจากหอดูดาวเมืองโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ บันทึกไว้เมื่อเวลา 14.30 น.
สุริยคราสครั้งแรกของปีเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ 13.06 น.ที่ผ่านมา เหนือน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนในประเทศไทยสังเกตได้ตั้งแต่ 15.53 น. ช้าเร็วแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ปรากฎการณ์บังเต็มที่คือเวลประมาณ 17.00 น. ย้ำห้ามมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า อันตรายถึงขั้นตาบอดได้

ปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่กำลังเกิดขึ้นในวันตรุษจีนปีนี้ 26 ม.ค.52 ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เวลา 13.06 น. โดยเงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลก แต่พื้นที่เริ่มปรากฎการณ์ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก

ข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยระบุว่า ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 44 วินาที ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น จากนั้นเงามืดเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย จุดที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรด้วยระยะเวลานาน 7 นาที 56 วินาที

จากนั้น เงามืดเคลื่อนต่อไป ผ่านหมู่เกาะคอคอสในมหาสมุทรอินเดีย เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กในเครือรัฐออสเตรเลีย และถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ในเวลาประมาณ 16.37 น. กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย อยู่นอกเขตสุริยุปราคาวงแหวนโดยห่างลงไปทางใต้ของเส้นทางสุริยุปราคาวงแหวน

เงามืดเคลื่อนต่อไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านช่องแคบกะริมาตา พาดผ่านเกาะบอร์เนียวกับบางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดในเวลา 16.52 น. เป็นจังหวะที่ศูนย์กลางเงาหลุดออกจากผิวโลกในทะเลเซลีเบส ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 40 วินาที ขณะดวงอาทิตย์ตก

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย จะสามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 16.00-18.00 น. เมื่อดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงประมาณ 30-40 องศา และดำเนินไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ใกล้ตกลับขอบฟ้า ภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ ที่เงามืดพาดผ่านเหนือประเทศไทยขึ้นไป

ท้องฟ้าเหนือประเทศไทยสามารถสังเกตขณะบังเต็มที่ ได้ในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งทางซ้ายมือค่อนไปทางด้านบน หลายจังหวัดทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน จะยังคงเห็นดวงอาทิตย์แหว่งอยู่เล็กน้อยในจังหวะที่ดวงอาทิตย์ตกดิน

ทว่า เวลาในการเกินคราสจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดยสามารถตรวจสอบเวลาการสังเกตของแต่ละจังหวัดหรืออำเภอได้ที่ เว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ ตามลิงค์นี้ "เวลาเกิดสุริยุปราคา 26 มกราคม 2552 ในประเทศไทย"

นอกจากนี้ สามารถคลิกเข้าไปชมภาพแอนิเมชั่นการเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้ที่ http://shadowandsubstance.com/

อย่างไรก็ดี ในการสังเกตปรากฎการณ์สุริยคราสครั้งนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV ผู้จัดการออนไลน์" ขอย้ำอีกครั้งว่า ท่านผู้สังเกตจะต้องใช้แผ่นกรองแสงเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ หรือสังเกตการณ์ทางอ้อม เช่น ดูภาพสะท้อนบนผนังผ่านกระจกที่ทำหน้าที่คล้ายกล้องรูเข็ม ดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่สูง โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และความรู้เกี่ยวกับสุริยคราสได้ตามข่าวนี้ "เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
เวลาในการสังเกตสุริยุปราคาตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย (ภาพสมาคมดาราศาสตร์ไทย)




คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "สุริยุปราคา" และบรรยากาศจากทั่วโลก

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

ภาพจำลองเส้นทางเงาดวงจันทร์ที่พาดผ่านโลก อันเป็นเหตุให้เกิดปรากฎการสุริยคราส วันที่ 26 ม.ค.52 (ภาพจากหอดูดาวแอฟริกาใต้)



รวมข่าวสุริยุปราคา

- ว้าว!! ในที่สุดก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ”
- “สุริยุปราคา” ที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ
- ชมภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากทั่วโลก

- “มหกรรมสุริยุปราคา” คึกคักรับตรุษจีนที่จุฬาฯ
- เด็กๆ ตื่นตาดูสุริยุปราคาบนดาดฟ้ากระทรวงวิทย์

- เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกแล้ว ประเทศไทยดูได้ตั้งแต่ 15.53 น.
- เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
- สดร.ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา 26 ม.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น