xs
xsm
sm
md
lg

เด็กๆ ตื่นตาดูสุริยุปราคาบนดาดฟ้ากระทรวงวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องๆ ชั้น ป.6 จากโรงเรียนสวนมิสกวัน ใช้แว่นชนิดพิเศษส่องดูดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์กันอย่างตื่นเต้น
เด็กๆ ตื่นเต้น ได้เห็นสุริยุปราคาแรกแห่งปี สดร.ตั้งกล้องส่องดูเงาจันทร์บังอาทิตย์บนดาดฟ้ากระทรวงวิทย์ ครู นักเรียน ประชาชน และสื่อมวลชนสนใจร่วมกิจกรรมกันคับคั่ง คราสเริ่มกิจดวงอาทิตย์ตอนใกล้ 4 โมงเย็น และออกหมดเกือบ 6 โมง นักเรียนวัดสุทธิฯ บอกอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้มากๆ เพื่อกระตุ้นเยาวชนคนไทยให้สนใจดาราศาสตร์ยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. จัดกิจกรรมสุริยุปราคาแรกแห่งปีรับปีดาราศาสตร์สากล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 ม.ค. 52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลโย (วท.) โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ร่วมงานด้วย พร้อมด้วยน้องๆนักเรียนและครูอาจารย์จากโรงเรียนสวนมิสกวัน โดยคราสเริ่มสัมผัสดวงอาทิตย์ในเวลา 15.53 น.

การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. นำทีมงานตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นฟิมล์มกรองแสง และกล้องสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์อีก 2 ตัว บริเวณดาดฟ้าชั้น 8 อาคาร สวทช. โยธี ภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคลากรของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ครู นักเรียน และสื่อมวลชนมากมายรวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. อธิบายว่า ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่พาดผ่านแอฟริกาใต้ มหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของประเทศอินโดนีเซีย โดยที่ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้เป็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งภาคใต้จะมีช่วงเวลาการเกิดสุริยุปราคามากที่สุด และเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ คือประมาณ 55% ส่วนภาคเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งได้ไม่เกิน 20%

สำหรับบริเวณกรุงเทพฯ จะเริ่มสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.53 น. ไปจนถึงเวลา 17.55 น. โดยที่เงาของดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนเข้าสัมผัสและบดบังดวงอาทิตย์จากด้านล่างซ้าย และเคลื่อนออกทางด้านบนซ้ายของผู้สังเกต ซึ่งดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดประมาณ 33% ในเวลา 16.59 น.

สำหรับกิจกรรมสุริยุปราคาแรกแห่งปีดาราศาสตร์สากลนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักเรียนเป็นจำนวนมาก โดมีคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนสวนมิสกวันมาร่วมงานอย่างคับคั่ง เพราะโรงเรียนอยู่ละแวกใกล้เคียงกับกระทรวงวิทย์ นอกจากนี้ยังมีประชาชนนักเรียนจากอีกหลายโรงเรียนทยอยเดินทางมาร่วมสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคากันเป็นระยะ

ด.ช.ธนวัฒน์ เจียระคงมั่น นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ว่าทราบข่าวจากทางเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทยว่าช่วงเย็นวันที่ 26 ม.ค. นี้ จะมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาราคา และทราบจากทางโรงเรียนว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดกิจกรรมนี้ด้วยจึงมาร่วมงานเพราะสนใจเรื่องปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อยู่แล้ว

"เมื่อเราอยากรู้อยากเห็นก็มาร่วมกิจกรรม และเมื่อได้มาก็ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ซึ่งทำให้เราได้รู้อีกด้วยว่าจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปเมื่อไหร่ เพื่อที่เราจะได้ติดตามต่อไปได้ บางคนอาจจะคิดว่าดาราศาสตร์ก็แค่การดูดาว แต่จริงๆ แล้วมีอะไรน่ารู้ น่าค้นหามากกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความรู้ในศาสตร์อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เป็นต้น" ด.ช.ธนวัฒน์ หรือแบงค์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

แบงค์ยังบอกอีกว่าอยากให้เยาวชนและประชาชนไทยสนใจเรื่องราวของดาราศาสตร์มากขึ้น ซึ่งการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจเริ่มต้นได้ ทำให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ เมื่อเกิดความสนใจและนำไปเล่าปากต่อปากก็จะช่วยให้ผู้คนในวงกว้างเกิดความสนใจมากขึ้น สื่อการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต หากมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับดาราศาสตร์ทางอินเทอร์เน็ต ก็จะไปถึงผู้คนได้จำนวนมาก

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ถามต่อไปว่าคิดอย่างไรกับการที่ประชาชนบางส่วนนำปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ไปผูกโยงเข้ากับโหราศาสตร์ ซึ่งแบงค์ตอบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานนับพันปีที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ เหมือนเช่นกรณีของกาลิเลโอ ที่กว่าทฤษฎีของเขาที่บอกว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลจะได้รับการยอมรับจากสังคมก็เป็นเวลานานนับร้อยปี

ทางด้านน้องๆ ชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสวนมิสกวันมาร่วมดูสุริยุปราคากันอย่างตื่นเต้นสนุกสนาน โดยแต่ละคนได้รับแจกแว่นสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะที่ทาง สดร. เตรียมไว้ให้สำหรับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งบางคนก็เพิ่งเคยเห็นปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกด้วย จึงตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ เพราะรู้มาว่าสุริยุปราคาไม่ได้มีให้เห็นกันได้บ่อยนัก

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาให้คนไทยได้ชมกันอีกครั้งในวันที่ 22 ก.ค. 52 ช่วงเวลาประมาณ 07.00-09.00 น. โดยเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่พาดผ่านประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่น สำหรับประเทศก็จะสังเกตเห็นได้เป็นสุริยุปราคาบางส่วนเช่นเดียวกันครั้งนี้ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ จะติดตามนำมารายงานให้ทราบกันต่อไป
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ร่วมดูปรากฏการณ์สุริยุปราคากับเด็กๆ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 ม.ค. 52




คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ "สุริยุปราคา" และบรรยากาศจากทั่วโลก

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

นายอารี สวัสดี, ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม (จากซ้าย) ใช้แผ่นฟิล์มกรองแสงอาทิตย์ส่องดูสุริยุปราคา



รวมข่าวสุริยุปราคา

- ว้าว!! ในที่สุดก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ”
- “สุริยุปราคา” ที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ
- ชมภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากทั่วโลก

- “มหกรรมสุริยุปราคา” คึกคักรับตรุษจีนที่จุฬาฯ
- เด็กๆ ตื่นตาดูสุริยุปราคาบนดาดฟ้ากระทรวงวิทย์

- เงาดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกแล้ว ประเทศไทยดูได้ตั้งแต่ 15.53 น.
- เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"
- สดร.ชวนคนไทยชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา 26 ม.ค. นี้
สุริยุปราคาเมื่อเวลาประมาณ 16.59 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เงาดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบดบังดวงอาทิตย์มากที่สุด ราว 33% จากจุดสังเกตบนดาดฟ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ (สดร.)
ด.ช.ธนวัฒน์ เจียระคงมั่น (ขวาสุด) ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมดูสุริยุปราคาที่กระทรวงวิทยาศาสตร์อย่างมาก และรอคอยสุริยุปราคาครั้งต่อไปในช่วงกลางปีนี้อย่างใจจดจ่อ
กล้องสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ที่ สดร. เตรียมมาเพื่อสุริยุปราคาครั้งนี้โดยเฉพาะเช่นกัน
ภาพที่เห็นจากกล้องส่องดวงอาทิตย์จะเป็นภาพเสมือนที่เป็นเงาสะท้อนมาจากกระจกรับแสงอีกทีหนึ่ง
ประชาชนให้ความสนใจกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าครั้งก่อนๆ
โอ้โฮ! ดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์แล้ว
โอ้โฮ! เห็นดวงอาทิตย์แหว่งชัดแจ๋วเลย
กล้องโทรทรรศน์ก็ต้องติดแผ่นฟิล์มกรองแสงอาทิตย์ด้วยจึงจะส่องดูสุริยุปราคาได้โดยปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น