xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมกล้องให้พร้อม-กรองแสงให้พอบันทึกภาพ "สุริยุปราคา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างการชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัยด้วยวิธีโปรเจคชั่น ทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงอาทิตย์ แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ตา
แม้ปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" ในวันตรุษจีนนี้ จะไม่ใช่ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง แต่การเกิดสุริยคราสบางส่วน ในช่วงตะวันลับขอบฟ้าก็ไม่มีให้เห็นกันบ่อยนัก หลายคนคงอยากบันทึกภาพเหตุการณ์ทางธรรมชาตินี้ไว้ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้กล้องบันทึกภาพดวงอาทิตย์

ในวันที่ 26 ม.ค.52 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนปีนี้ มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจอย่าง "สุริยุปราคาบางส่วน" ซึ่งเกิดขึ้นช่วงประมาณ 16.00 น.จนตะวันลับขอบฟ้า สำหรับผู้ที่สนใจบันทึกภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" จึงได้สอบถามถึงวิธีบันทึกภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ปลอดภัยจาก ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งได้ให้คำแนะนำไว้

"ควรมีอุปกรณ์กรองแสง อาทิ แผ่นไมลาร์ (Milar) ซึ่งคล้ายวัสดุห่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซ์เรย์ (X-ray) 2 ชั้น เพื่อกรองแสง แต่ก็ต้องทดลองว่า อุปกรณ์กรองแสงเหล่านั้น จะเหมาะสมกับกล้องหรือเปล่า เพราะบางครั้งอาจทำให้ปรับโฟกัสไม่ได้"

สำหรับกล้อมคอมแพ็คอาจจะปลอดภัยกว่า เพราะเราไม่ได้มองดวงอาทิตย์โดยตรงเวลาบันทึกภาพ ซึ่งกล้องอาจจะเสีย แต่ตาเราไม่เป็นอะไร ส่วนกล้องเอสแอลอาร์ (Single-lens reflex: SLR) ซึ่งเวลาถ่าย ต้องมองผ่านเลนส์อาจจะอันตรายหน่อยถ้ากรองแสงไม่ดี ทั้งนี้ก็ควรมีขาตั้ง เพื่อช่วยให้ถ่ายได้ชัด" ดร.ศรันย์กล่าว

รองผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์กล่าวอีกว่า การถ่ายภาพสุริยุปราคาในวันที่ 26 ม.ค.นี้ อาจจะบันทึกได้ง่าย เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนต่ำลงในช่วงเย็น ซึ่งชั้นบรรยากาศช่วยกรองแสงในระดับหนึ่ง พร้อมเล่าว่าประสบการณ์ส่วนตัวในการบันทึกภาพสุริยุปราคาว่า มีเทคนิคค่อนข้างมาก โดยเขาเลือกใช้แผ่นกรองแสงเฉพาะสำหรับบันทึกสุริยุปราคาซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย และมีขาตั้งกล้องที่สามารถตามดวงอาทิตย์ได้

สำหรับปรากกการณ์สุริยุปราคาในวันที่ตรุษจีนนี้ เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนที่พาดผ่านบริเวณมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย

แต่ท้องฟ้าเหนือประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน โดยเห็นได้ทั่วประเทศแต่เห็นได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ โดย จ.นราธิวาสเห็นนานที่สุด 54.9 นาที และ จ.เชียงรายเห็นสั้นที่สุด 17 นาที

ทั้งนี้ คราสจะเริ่มเข้าสู่สัมผัสที่ 1 (First contact) เวลา 15.53 น. และสิ้นสุดที่เวลา 17.58 น.แต่วันดังกล่าวตะวันลับขอบฟ้าเวลา 17.56 น.

นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยซึ่งส่งมาให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ระบุถึงการเกิดสุริยุปราคาว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ โลกและดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดเงาพาดลงมาบนโลก 2 ชนิดคือ เงามืด (Umbra) ซึ่งทำให้เกิดบริเวณที่มืดที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ และเงามัว (Penumbra) ซึ่งทำให้เกิดบริเวณที่ไม่มืดมากนักเนื่องจากได้รับแสงบางส่วนจากดวงอาทิตย์

ปกติดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ ประมาณ 1 เดือน จึงมีโอกาสที่ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกเสมอ แต่ไม่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพราะระนาบโคจรของดวงจันทร์เอียงประมาณ 5 องศากับระนาบโคจรของโลก ดวงจันทร์จึงมักเคลื่อนไปทางเหนือหรือทางใต้ของเส้นตรงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์และไม่เกิดเงาทอดลงมาบนโลก ซึ่งปกติวงโคจรของดวงจันทร์จะตัดวงโคจรของโลกเพียง 2 จุดตลอดระนาบโคจร และไม่ใช่จุดเดิมทุกครั้ง อีกทั้งเนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเอง การเกิดสุริยุปราคาจึงเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้ง

การเกิดสุริยุปราคาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1.สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก จึงเห็นดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ 2.สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามัว จึงเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นเสี้ยว และ 3.สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก แต่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากจนเงามืดทอดยาวไม่ถึงโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์และเห็นเป็นรูปวงแหวน

ส่วนวิธีการชมสุริยุปราคาให้ปลอดภัยนั้น นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ได้ให้ข้อมูลผ่านศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยว่ามี 3 วิธีดังนี้

1.มองดูด้วยตาเปล่าโดยใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) แผ่นกรองแสงจะกรองพลังงานของแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่า 99% แสงที่เหลือจึงไม่สามารถทำอันตรายแก่ดวงตาได้ แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ควรเป็นแผ่นกรองแสงที่มีคุณภาพ และถูกสร้างขึ้นเพื่อกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ได้แก่ แผ่นไมลาร์ กระจกเคลือบโลหะ เป็นต้น

"ทั้งนี้จะมีตัวอย่างแจกสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าร่วมในงานมหกรรมสุริยุปราคา ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งปัจจุบันมีแว่นตาดูสุริยุปราคาที่ได้มาตรฐานจำหน่ายในหน่วยงานดาราศาสตร์หลายแห่งด้วยกัน เช่น สมาคมดาราศาสตร์ไทย แต่สำหรับในกรณีที่หาซื้อแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไม่ได้จริงๆ อาจใช้วัสดุอื่นแทนได้ เช่น แผ่นฟิลม์เอกซเรย์ที่มีสีดำเข้มทั้งแผ่นตัดมาซ้อนทับกันอย่างน้อยสองชั้นขึ้นไป หรือใช้หน้ากากเชื่อมเหล็กขนาดเบอร์ 5 เป็นต้น" นอ.ฐากูร ระบุ

2.มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) การดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ ได้แก่ จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) เป็นต้น อย่างไรก็ตามแผ่นกรองแสงที่ใช้จะต้องมีคุณภาพสูง แผ่นกรองแสงที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์มีหลายชนิด เช่น แผ่นกรองแสงไฮโดรเจน-แอลฟา จะช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ แผ่นกรองแสงชนิดไมลาร์เป็นแผ่นโลหะบางๆ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว หรือสีฟ้าอื่น แผ่นกรองแสงชนิดกระจกเคลือบโลหะทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นส้มหรือสีเหลือง เป็นต้น

3.วิธีโปรเจคชั่น ทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงอาทิตย์ แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ตา วิธีนี้ช่วยให้สามารถดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ทีละหลายๆ คน ไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า กล้องและเลนส์ที่นำมาใช้ต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ทำด้วยพลาสติก เพราะเลนส์จะรวมแสงจนเกิดความร้อน จนทำให้ชิ้นส่วนละลายได้

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจทั่วไปสามารถร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ได้ ตามสถานที่จัดกิจกรรมร่วมชมปรากฏการณ์ดังนี้

- อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรุงเทพมหานคร จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะมีการนำกล้องสำหรับดูดวงอาทิตย์ (solar scope) จำนวน 2 ตัว มาติดตั้ง ณ บริเวณดาดฟ้า ชั้น 8 และเตรียมแว่นตาสำหรับดูดวงอาทิตย์ พร้อมนำทีมวิทยากรของสถาบันฯ ให้ข้อมูล

- ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดให้บริการแก่ผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้จากปรากฏการณ์สุริยุปราคาของจริง โดยมีการตั้งกล้องสำหรับดูดวงอาทิตย์ไว้ให้บริการ ณ ชั้นดาดฟ้า อาคาร 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เอกมัย

- ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. และสถาบันการศึกษาอีกกว่า 10 สถาบัน จัดงาน “มหกรรมสุริยุปราคา”

ภายในงานมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์กว่า 20 ตัว ซึ่งกล้องแต่ละตัวติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์แตกต่างกัน ทำให้เห็นดวงอาทิตย์ในมุมมองที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมให้เยาวชนได้ร่วมทดลองประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ด้วยตนเองอีกด้วย

- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมชั้น 6 ตึกคณะวิทยาศาสตร์ (SCB2) หน้าห้องดาราศาสตร์ ซึ่งการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่จะเห็นดวงอาทิตย์โดนบังประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

- หอดูดาวบัณฑิต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน พร้อมทั้งตั้งกล้องโทรทรรศน์ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์ไว้เช่นกัน

- ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์ พร้อมฉายลงจอเพื่อร่วมชมพร้อมกัน
ภาพแผ่นกรองแสงชนิดต่างๆ ที่ทำให้เห็นดวงอาทิตย์ (ภาพบน) ต่างกันตามชนิดของแผ่นกรองแสง
แว่นสำหรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาของลีซา
กำลังโหลดความคิดเห็น