ปี 52 ลุ้นชมสุริยคราสกันเต็มตาอีก 2 ครั้ง คนไทยห้ามพลาดเด็ดขาด แม้จะได้เห็นอาทิตย์เว้าแหว่งแค่บางส่วน ปรากฏการณ์แรก "สุริยุปราคาวงแหวน" เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. และอีกครั้งในเดือน ก.ค. กับ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ที่ปีนี้พิเศษกว่าครั้งไหน เพราะคราสจับเต็มดวงนานกว่า 6 นาที
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้แถลงข่าวมหกรรมการเกิดสุริยุปราคาวงแหวนและสุริยุปราคาเต็มดวงในปี 2552 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ที่ไม่ควรพลาด และประเทศไทยก็อยู่เขตที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านขณะเคลื่อนเข้าบดบังดวงอาทิตย์ด้วย โดยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งในงานนี้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจมาร่วมมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย
นายอารี สวัสดี อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในปี 52 นั้นมี 2 ครั้งด้วย ครั้งแรกจะเกิดในวันที่ 26 ม.ค.52 เป็นสุริยุปราคาวงแหวน เนื่องจากดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ เส้นทางของสุริยุปราคาวงแหวนส่วนใหญ่อยู่ในทะเล โดยมีเพียงบางส่วนของประเทศอินโดนีเซียที่เท่านั้นที่จะสังเกตเห็นสุริยุปราคาวงแหวนได้ในเวลาประมาณ 16.37 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งกินเวลานานกว่า 5 นาที
ขณะเดียวกันชาวไทยจะเริ่มเห็นเงาของดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบดบังดวงอาทิตย์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.38 น. เป็นเวลาขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งมุมเงยราว 30 องศา โดยภาคใต้ของประเทศจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ก่อนภูมิภาคอื่นๆ และเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดในเวลา 16.55 น. ประมาณ 60% ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่นด้วยเช่นกัน ส่วนกรุงเทพฯ จะเริ่มเห็นได้ตั้งแต่ 15.53 น. และจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากสุดราว 45% ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ภาคเหนือจะเห็นเว้าเพียง 30% เท่านั้น และปรากฏการณ์นี้จะสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 18.00 น.
นอกจากนี้ยังมีประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้ บางส่วนของแอนตาร์กติกา จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ที่จะสามารถเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนได้เช่นกัน
ส่วนในวันที่ 22 ก.ค. 52 จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่มีเส้นทางผ่านประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ตอนเหนือของพม่า จีน และบางเกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกก่อนจะสิ้นสุดลง
สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากระยะเวลาขณะดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์จนมืดมิด กินเวลานานกว่า 6 นาที นับว่ายาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยจุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณทะเลทางด้านตะวันออกของเกาะดิโวะจิมะ ประเทศญี่ปุ่น ยาวนานประมาณ 6 นาที 39 วินาที ตรงกับเวลาประมาณ 9.29 น. ของประเทศไทยไทย ทั้งนี้ สุริยุปราคาเต็มดวงสามารถเกิดขึ้นได้นานสุดราว 7 นาที ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2538 กินเวลาประมาณ 2 นาทีเท่านั้น
ส่วนประเทศไทยก็จะเห็นเป็นเพียงสุริยุปราคาบางส่วนเช่นกัน โดยจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงในช่วงเวลาประมาณ 7.00-9.00 น. ซึ่งในครั้งนี้จังหวัดในภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งได้มากที่สุด
สำหรับปี 2552 นั้นยังได้รับการประกาศให้เป็น "ปีดาราศาสตร์สากล" อีกด้วย เนื่องในวาระครบรอบ 400 การศึกษาดาราศาสตร์เป็นครั้งแรกอย่างจริงจังของกาลิเลโอ กาลิเลอิ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ผู้ประดิษฐ์กล้องโทรทัศน์เป็นคนแรกและพิสูจน์ได้ว่าโลกมีสัณฐานกลมและโคจรรอบดวงอาทิตย์
ด้าน น.ส.ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ข้อสำคัญในการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาคือ ห้ามดูด้วยตาเปล่าเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงตาบอดได้ และห้ามดูผ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ ฟิล์มขาวดำ หรือกระจกรมควัน เพราะยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อดวงตาได้เช่นกัน
วิธีการดูสุริยุปราคาที่ถูกต้องคือการมองผ่านแผ่นฟิล์มชนิดพิเศษที่ใช้ในการสังเกตดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ซึ่งช่วยป้องกันดวงตาจากรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ได้ จึงมีความปลอดภัย 100% หรือชมปรากฏการณ์ทางอ้อมผ่านเงาของดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบลงบนฉากรับแสง
ในการนี้ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ได้จัดทำแผ่นฟิล์มดังกล่าวในรูปแบบ "แว่นสุริยะ" สำหรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานหลายสิบปี โดยจำหน่ายในราคาชิ้นละ 50 บาท ผู้สนใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หรือแว่นสุริยะ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย โทร. 02-381-7409-10.