xs
xsm
sm
md
lg

สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย สดร.จัดให้ประชาชนทั่วประเทศได้ชมทั่วถึง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ที่ 2 จากขวา) ร่วมแถลงข่าวกิจกรรม “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552” ที่ สดร. ร่วมกับสถานบันการศึกษาต่างๆ จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของไทยตื่นตัวและเตรียมตัวดูสุริยุปราคาครั้งสำคัญในวันที่ 22 ก.ค. 52 นี้
สดร. เตรียมจัดกิจกรรม "สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย" 22 ก.ค. นี้ ร่วมมือ 8 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตั้งกล้องดูดาวให้ประชาชนทุกภูมิภาคร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งสำคัญแห่งศตวรรษ หวังกระตุ้นเยาวชนให้สนใจดาราศาสตร์ พร้อมจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องสุริยุปราคาด้วย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) แถลงข่าวกิจกรรม “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 ก.ค.52” ที่ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่การจัดกิจกรรมและกระตุ้นคนไทยให้ตั้งรอชมสุริยุปราคาบางส่วนที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วท. ร่วมแถลงข่าวด้วย ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ร่วมทำข่าวพร้อมกับสื่อมวลชนอีกจำนวนมาก

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค. นี้ จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในช่วงเวลาประมาณ 07.00 - 09.19 น. โดยมีแนวคราสเต็มดวงพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ และเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่กินเวลานานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ 6 นาที 39 วินาที

สำหรับประเทศไทยนั้น อยู่นอกแนวคราสเต็มดวง และจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ โดยสามารถเห็นได้ทุกภูมิภาคของไทย เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00-09.20 น. ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาแตกต่างกันเล็กน้อย และภาคเหนือที่ จ. เชียงราย จะได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้เกิดขึ้นนานที่สุดในไทย โดยเห็นปรากฏการณ์นานราว 2 ชั่วโมง 12 นาที และยังเห็นดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดถึง 69%

ขณะที่ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร จะเริ่มสังเกตเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.06 จนถึง 09.08 น. โดยจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุดราว 42.2% ในเวลาประมาณ 08.03 น.

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 22 ก.ค. 52 นี้ว่า เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ชุดซารอสที่ 136 ซึ่งเป็นชุดซารอสเดียวกันกับสุริยุปราคาเต็มดวง ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2498 และเส้นทางของแนวคราสพาดผ่านกรุงเทพฯ

ส่วนสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือสุริยุปราคาเต็มดวงในปี 2538

รองผู้อำนวยการ สดร. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการชมสุริยุปราคาที่ถูกต้องและปลอดภัยด้วย ควรใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ผลิตจากแผ่นกรองแสงชนิดพิเศษที่ป้องกันรังสีอินฟราเรดได้เช่นเดียวกับแว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ สดร. ผลิตขึ้น หรืออาจใช้แผ่นซีดีหรือดีวีดีก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าสารเคลือบไม่หลุดลอก และแต่ละครั้งไม่ควรส่องดูนานเกิน 5 วินาที

นอกจากนี้ก็สามารถใช้กระจกช่างเชื่อมเบอร์ 14 หรือถ้าจะใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์หรือฟิล์มขาวดำ ก็ต้องแน่ใจว่าส่วนที่นำมาใช้นั้นมืดสนิท และควรใช้ซ้อนเป็น 2 ชั้น อาจใช้กระดาษเจาะรูเล็กๆ เป็นกล้องรูเข็ม และสังเกตปรากฏการณ์จากฉากรับสีขาว ซึ่งไม่ต้องส่องดูดวงอาทิตย์โดยตรงและปลอดภัยแน่นอน แต่ไม่แนะนำให้ใช้กระจกรมควัน และที่สำคัญต้องไม่ดูด้วยตาเปล่าเด็ดขาด

ทั้งนี้ สดร. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 8 แห่ง ทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552” เพื่อให้ประชาชนไทยทั่วทุกภูมิภาคได้ร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในครั้งนี้อย่างทั่วถึงกัน เป็นการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวให้กับเยาวชนและประชาชนไทยสนใจในกิจกรรมทางดาราศาสตร์ โดยจะมีการจัดตั้งกล้องดูดาว และแจกจ่ายแว่นตาสำหรับดูดวงอาทิตย์ให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมได้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคาและดาราศาสตร์

"ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ หลายประเทศจึงมีการส่งเสริมให้เยาวชนได้ศึกษาดาราศาสตร์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีจินตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีความอดทนในการเฝ้าชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และมีใจรักธรรมชาติ ซึ่งไม่จำเป็นว่าในอนาคตทุกคนจะต้องเป็นนักดาราศาสตร์ด้วยเสมอไป" รศ.บุญรักษา กล่าว

สำหรับสถาบันการศึกษาทั้ง 8 แห่ง ที่ สดร. ไปร่วมจัดกิจกรรมและตั้งกล้องดูดาว มีดังนี้

ภาคกลาง – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร
ภาคตะวันออก – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปตั้งกล้องที่ จ. ระยอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

รวมทั้งจัดกิจกรรมและตั้งกล้องดูดาวบริเวณท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ โดยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และร่วมกับโรงเรียนเทพศิรินทร์จัดกิจกรรมภายในโรงเรียนและบริเวณโดยรอบวงเวียน 22 กรกฎาคม ร่วมกับกิจกรรมรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระทัยนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถไปร่วมกิจกรรม “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552” ได้ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ.
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม (ขวา) และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา 22 ก.ค. 52
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา สาธิตการใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
ผู้สนใจร่วมงานแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก
แว่นตาดูดวงอาทิตย์ ที่จัดทำขึ้นโดย สดร. ดูสุริยุปราคาได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล แต่ก็ไม่ควรมองเกิน 5 วินาที ในการดูแต่ละครั้ง
วิธีการใช้แว่นส่องดูดวงอาทิตย์
ใช้กระดาษเจาะรูเป็นกล้องรูเข็มช่วยสังเกตสุริยุปราคาได้ปลอดภัย 100%
ทดลองทำกล้องรูเข็มด้วยมือ
กำลังโหลดความคิดเห็น