ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค. นี้ และมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่จะได้เห็นกัน ส่วนในไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งบางคนวางแผนจะเดินทางไปชมปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ที่ต่างแดน บางคนก็อาจปักหลักสังเกตสุริยคราสอยู่ในไทย แต่ไม่ว่าจะดูอยู่ที่ไหนก็ควรรู้หลักการดูสุริยุปราคาที่ปลอดภัยไว้ก่อน
โรงเรียนเพลินพัฒนาจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ "สุริยุปราคาเต็มดวง เปลี่ยนชีวิตสู่วิทยาศาสตร์" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 50 คน ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ และประสบการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นทั่วโลกจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ดร.ศรัณย์ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ผ่านๆ มาในประเทศต่างๆ เช่น ตุรกี รัสเซีย และประเทศในแอฟริกาใต้ ซึ่งทั้งเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ต่างก็ฟังอย่างใจจดจ่อ และรู้สึกทึ่งกับความมหัศจรรย์ของสุริยุปราคาและความสนใจของเจ้าของประสบการณ์
หลายคนที่อยากเห็นสุริยุปราคา และอยากบันทึกภาพวินาทีสำคัญเอาไว้พร้อมๆ กัน ซึ่งหากเตรียมตัวและเตรียมการไม่ดีพอ ก็อาจทำให้พลาดชมปรากฏการณ์ช่วงสำคัญด้วยตาตัวเอง และยังไม่สามารถบันทึกภาพที่สวยงามไว้ได้อีก ก็จะยิ่งรู้สึกผิดหวังกว่าคนอื่น ซึ่ง ดร.ศรัณย์ แนะนำว่าหากเป็นการชมสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรก ควรชมปรากฏการณ์นั้นด้วยตาตัวเองมากกว่ามองผ่านกล้องหรือห่วงถ่ายภาพมากกว่า เพราะจะได้ความประทับใจมากยิ่งกว่า และหากเราเกิดความประทับใจขึ้นในครั้งแรกแล้ว ก็จะกระตุ้นให้เราติดตามชมและถ่ายภาพสุริยุปราคาในครั้งต่อๆ ไป
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ค. นี้ ดร.ศรัณย์ ให้ข้อมูลว่าเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะพาดผ่านประเทศอินเดีย ภูฎาน จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์นานที่สุดจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก นาน 6.39 นาที
จากนั้นนายวิษณุ เอื้อชูเกียรติ อดีตกรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติการเกิดสุริยุปราคาครั้งสำคัญในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณมหาราชจนถึงปัจจุบัน และจึงเป็นช่วงฝึกสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมอย่างปลอดภัยโดยนายวรวิทย์ ตัณวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝนตกหนักจนถึงช่วงเย็น ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมในช่วงนี้ได้ แต่นายวรวิทย์ก็ได้แนะนำวิธีการดูสุริยุปราคาที่ถูกต้องแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ควรมองผ่านแผ่นกรองแสงสำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือแผ่นไมลาร์ (Milar) และมองดูเพียงชั่วครู่ ไม่ควรจ้องดูนานเกินไป หรืออาจใช้กระดาษเจาะรูให้แสงผ่าน และสังเกตสุริยุปราคาจากเงาบนฉากรับก็ได้ หากจะถ่ายภาพ ก็ควรติดแผ่นกรองแสงด้วย มิฉะนั้นจะทำให้กล้องเสียหายได้
ส่วน ดร.ศรัณย์ แนะนำเพิ่มเติมว่าฟิล์มขาวดำและแผ่นซีดีรอมก็สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ดูสุริยุปราคาได้โดยปลอดภัยเพราะสามารถป้องกันรังสีอินฟราเรดได้ แต่แผ่นซีดีรอมอาจเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก ห้ามใช้ฟิล์มสีและกระจกรมควันเด็ดขาด เพราะไม่กันรังสีอินฟราเรด และอาจทำให้ตาบอดได้ ที่สำคัญต้องไม่ดูด้วยตาเปล่า และไม่มองผ่านเลนส์กล้องที่ไม่ติดแผ่นกรองแสงเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตาบอดได้ทันที
ทั้งนี้ คณะผู้ปกครองโรงเรียนเพลินพัฒนาร่วมกับหอดูดาวบัณฑิตจัดกิจกรรมพานักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนาตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3ประมาณ 20 คน เดินทางไปสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่มณฑลเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 19-24 ก.ค. ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมของโรงเรียนพอดี เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง และเปิดประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญของโลก
นายรพี พิมพ์ทอง หรือจูเนียร์ และ น.ส.ฐิติรัตน์ สิริภัทรวณิช หรือ ฟ้า นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนที่จะเดินทางไปดูสุริยุปราคาเต็มดวงแห่งศตวรรษครั้งนี้ด้วย กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า จากที่ได้ฟังประสบการณ์ของ ดร.ศรัณย์ รู้สึกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง เป็นสิ่งที่สวยงามและมหัศจรรย์มาก ซึ่งตนเองไม่เคยเห็นมาก่อน และที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ยิ่งมหัศจรรย์กว่าครั้งที่ผ่านๆมา เพราะจะเต็มดวงยาวนานที่สุดในศษตวรรษ จึงอยากเห็นด้วยตาตัวเอง และคิดว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการดูสุริยุปราคาในครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด หากติดใจและมีโอกาสก็จะตามไปดูที่อื่นๆต่อไป และที่สำคัญต้องศึกษาวิธีการดูที่ถูกต้อง ปลอดภัย และดูแลสุขภาพให้พร้อมด้วย.