จะมีสักกี่คนที่ดั้นด้นเดินทางไปทั่วโลก เพื่อตามล่าปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง และสะสมชั่วโมงใต้เงาจันทร์ ทั้งยังยอมรับว่าสุริยุปราคามีผลต่อชีวิตของคนเราจริงๆ
วันที่ 22 ก.ค.52 ที่ผ่านมา เป็นอีกวันที่นักดาราศาสตร์และประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก ต่างตั้งตาเฝ้ารอชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21
หลายคนที่มีโอกาสได้อยู่ภายใต้แนวคราส แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ แต่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กลับไม่รู้สึกเสียดายหรือผิดหวัง ทว่ากลับได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการดูสุริยุปราคาผ่านม่านเมฆ
“ตื่นเต้นมาก ขนลุกไปทั้งตัว แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่รู้ก็สึกได้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่เหนือหัวเรา” ดร.ศรัณย์ เล่าความประทับใจในการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุด ณ ริมชายทะเล เมืองจินซาน นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกับคณะนักวิทยาศาสตร์จาก สดร. เพื่อศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ เพราะท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมหนาแน่นมาก ทำให้พลาดชมท้องฟ้าช่วงเวลาที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ยาวนานที่สุดในรอบร้อยปี และฝนตกหนักทันทีที่สิ้นสุดการเกิดคราส
ดร.ศรัณย์ บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการว่า แนวการเกิดคราสครั้งนี้พาดผ่านเมืองใหญ่หลายเมือง เช่น เฉิงตู อู่ฮั่น จ่งชิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชาชนกว่า 300 ล้านค้น รอชมปรากฏการณ์ครั้งนี้
ส่วนตัวเขาเลือกเมืองจินซาน เป็นที่มั่นในการชมปรากฏการณ์นี้เพราะเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวกึ่งกลางคราส และมีสถิติของสภาพอากาศในช่วงนี้ดีที่สุด จึงน่าจะเห็นปรากฏการณ์ได้ชัดเจน แต่ก็มีโอกาส 50 : 50 เช่นกัน และผลปรากฏออกมาเป็นลบ ซึ่งเป็นไปธรรมชาติ และเชื่อว่าคนที่ติดตามชมสุริยุปราคามาแล้วหลายครั้งก็ต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้กันทุกคน
“ครั้งนี้เป็นการดูสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 7 ของผม แต่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูสุริยุปราคาผ่านเมฆตลอดโดยไม่ต้องใช้แผ่นกรองแสง และยังเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นเงาจันทร์เคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าไปด้วยความเร็วประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปกติแล้วเราจะไม่เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ แต่เพราะครั้งนี้มีเมฆเต็มท้องฟ้าเป็นฉากรับจึงได้เห็น และรู้สึกตื่นเต้นมาก”
จากปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกที่ได้เห็นเมื่อ 24 ต.ค.38 ที่พาดผ่านประเทศไทย สร้างความประทับใจให้ ดร.ศรัณย์ เป็นอย่างมาก จนติดใจ และตั้งใจติดตามชมสุริยุปราคาเต็มดวงให้ได้ทุกครั้งที่มีโอกาส
เขาตั้งใจว่า จะสะสมช่วงเวลาอยู่ใต้เงาจันทร์ให้ได้ครบ 1 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้สะสมได้แล้วประมาณกว่า 20 นาที และยังยอมรับด้วยว่าตัวเองเป็นคนที่บ้าสุริยุปราคาอย่างมาก แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับอีกหลายคน ที่มีประสบการณ์มากกว่า ซึ่งบางคนติดตามชมสุริยุปราคาเต็มดวงมาแล้วถึง 30 ครั้ง คนในวงการที่ชอบติดตามดูปรากฏการณ์นี้มาหลายครั้งแล้ว ก็มักใส่เสื้อหรือใส่หมวกที่มีสัญลักษณ์ของสุริยุปราคาครั้งก่อนๆ มาอวดกันอย่างสนุกสนานว่า นี่ไม่ใช่เพิ่งได้ดูครั้งแรก
“การดูสุริยุปราคาเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ประสบการณ์ชีวิตแก่เราด้วย ตลอดการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อดูสุริยุปราคาเต็มดวง และสุริยุปราคาเต็มดวงก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ที่สุด สวยงาม ทั้งยังไม่มีอันตรายต่อชีวิตเราด้วย” ดร.ศรันย์เล่า
สุริยุปราคาครั้งที่ประทับใจ ดร.ศรัณย์มากที่สุด คือสุริยุปราคาเต็มดวงที่ประเทศแซมเบียในปี 2544 เพราะดูบนยอดเขาสูงกว่าพันเมตร สภาพอากาศแจ่มใส เห็นปรากฏการณ์ชัดเจนและเห็นโคโรนาใหญ่ที่สุดด้วย
เช่นเดียวกัน ดร.ศรัณย์ ก็หวังว่าจะได้ชมสุริยุปราคาในชุดซารอสเดียวกับครั้งนี้ในอีก 18 ปีข้างหน้าที่จะเห็นได้ในประเทศอียิปต์และยาวนานกว่า 6 นาที
สำหรับสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไปในปี 2555 ที่เห็นได้ในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ดร.ศรัณย์ วางแผนไว้แล้วว่าจะไม่พลาดชมเด็ดขาด และยังเป็นชุดซารอสเดียวกันกับสุริยุปราคาเต็มดวงที่ อ.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สมัยรัชกาลที่ 4 อีกด้วย
ส่วนสุริยุปราคาในชุดซารอสเดียวกับที่นครเซี่ยงไฮ้ครั้งนี้จะเกิดขึ้นในอีก 18 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเห็นได้ในประเทศอียิปต์และยาวนานกว่า 6 นาที และเขาก็หวังและตั้งใจจะไปชมให้ได้เช่นกัน
ทุกวันนี้ ดร.ศรัณย์ ยอมรับว่า สุริยุปราคามีผลต่อชีวิตคนเราจริงๆ เพราะทำให้เขาประทับใจและรักที่จะติดตามสุริยุปราคาเต็มดวงไปทุกที่ที่สามารถไปถึงได้ และหวังว่าประสบการณ์เหล่านี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเด็กไทยรุ่นใหม่ให้สนใจดาราศาสตร์และปรากฏการณ์สุริยุปราคามากยิ่งขึ้น