"สุริยุปราคา" กลับมาอีกครั้ง 15 ม.ค.นี้ หากพลาดชมต้องรออีกที 2 ปีข้างหน้า ขณะทีจีน-พม่า เห็นเป็นแบบวงแหวน แต่ไทยเห็นเป็นแบบบางส่วน โดยภาคเหนือเห็นคราสบังมากที่สุด 70% ส่วนกรุงเทพฯเห็นได้ 50% ภาคใต้เห็นน้อยสุด ด้านนักวิชาการเตือนให้ดูอย่างถูกต้อง อย่ามองด้วยตาเปล่า
ปรากฏการณ์สุริยุปราคากลับมาอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.53 นี้ เป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 14.00-17.00 น. โดยภาคเหนือจะเห็นคราสบังมากที่สุด โดย จ.แม่ฮ่องสอนเห็นการบดบังมากถึง 77% ส่วนกรุงเทพฯ เห็นการบดบังได้ 57.3% ขณะที่ภาคใต้เห็นการบดบังน้อยสุด จ.นราธิวาสเห็นการบดบังเพียง36%
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สุริยุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ในเมืองไทยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปรากฎสุริยุปราคาวงแหวนที่คราสพาดผ่านพม่าและจีน ทั้งนี้สุริยุปราคาวงแหวนเกิดจากขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าดวงอาทิตย์
"สุริยุปราคาวงแหวนเป็นสิ่งปกติของสุริยุปราคาที่เกิดในเดือน ม.ค. เนื่องจากเป็นเดือนที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ดังนั้นจึงเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้ยาก ครั้งนี้ไทยอยู่ใกล้แนวคราสวงแหวน จึงเห็นสุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งแต่ละภาคจะเห็นการบดบังไม่เท่ากัน แต่ตลอดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนและสุริยุปราคาบางส่วน ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า" ดร.ศรัณย์กล่าว
พร้อมกันนี้รอง ผอ.สดร.ได้แนะนำว่าไม่ควรชมสุริยุปราคาด้วยตาเปล่า และดูด้วยอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย เช่น แผ่นซีดี กระจกช่างเชื่อม เบอร์ 14 แว่นตาสำหรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาโดยเฉพาะ หรืออาจดูทางอ้อมโดยใช้กล้องรูเข็รับภาพดวงอาทิตย์ให้ตกที่ฉาก และมีปรากฏการณ์ที่น่าติดตามระหว่างปรากฏการณ์คือรูปเงาเสี้ยวจากใบไม้
ทั้งนี้ สดร.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลระหว่างเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ดร.ศรัณย์กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ระหว่างเกิดสุริยุปราคาจะศึกษาข้อมูลในเชิงอุตุนิยมวิทยา คือ อุณหภูมิ ความสว่างของท้องฟ้า ลม ความกดอากาศ เพื่อศึกษาว่าเมื่อแสงอาทิตย์ลดลงแล้วมีผลอะไรบ้าง เนื่องจากการบดบังของจันทร์นั้นทำให้แสงอาทิตย์ตกไม่ถึงชั้นบรรยากาศโลก จะทำให้เข้าใจเรื่องชั้นบรรยากาศ ความร้อนและการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์
ด้าน รศ.บุญรักษา สุทรธรรม ผอ.สดร. กล่าวว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ คนมักให้ความสนใจ โดยสุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เห็นได้ในตอนกลางวัน สังเกตง่าย และนอกจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาแล้วยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อื่นๆ ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและเยาวชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สนใจวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้นด้วย
สำหรับวันเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา ทาง สดร.ได้ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 30 หน่วยงาน จัดกิจกรรมเพือให้ประชาชน เยาวชนได้ร่วมในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งเดียวในปี 2553 ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนขึ้นในเมืองไทยอีกครั้งวันที่ 20 พ.ค.55 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุริยุปราคาวงแหวนที่คราสพาดผ่านญี่ปุ่น และในวันที่ 8 มี.ค.59 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่คราสพาดผ่านเกาะบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา และไทยจะเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในส่วนของภาคใต้วันที่ 21 พ.ค.74