xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นฟ้าเปิด ชมจันทรุปราคาเช้ามืด 17 ส.ค. นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงจันทร์สีแดงอิฐเมื่อครั้งเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง วันที่ 20 ก.พ. 2550 ซึ่งภาพนี้บันทึกไว้โดย Paul Keleher ที่สังเกตปรากฏการณ์นี้อยู่ที่เมืองเวสต์วูด (Westwood) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย Paul Keleher)
นักดาราศาสตร์และคนรักดาว ต่างลุ้นให้ท้องฟ้าใสแจ่ม ไร้เมฆบดบังการสังเกตจันทรุปราคา ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ และน่าสนใจมากอีกปรากฏการณ์หนึ่ง อีกทั้งเป็นอุปราคาครั้งสุดท้ายของปีนี้ด้วย

ฤดูฝนไม่เข้าใครออกใคร ฝนจะตกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะน่าเสียดายมาก ถ้าหากฝนเกิดมาตกในช่วงที่พวกเรา กำลังเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อยู่อย่างใจจดใจจ่อ

ในช่วงเวลา 01.20 น. ของวันที่ 17 ส.ค.51 เป็นต้นไป จะเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์จะถูกบดบังมากที่สุดประมาณ 81% ในช่วงเลา 04.10 น. ซึ่งนักดาราศาสตร์ และประชาชนจำนวนไม่น้อย ต่างหวังที่จะได้ชมปรากฏการณ์อุปราคานี้ นับเป็นอุปราคาครั้งสุดท้ายของปี 2551

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ติดต่อสอบถาม ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ถึงการสังเกตปรากฎการณ์ครั้งนี้ โดย ดร.ศรัณย์บอกว่า ทาง สดร. ไม่ได้จัดกิจกรรมใดเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าไม่ใช่จันทรุปราคาเต็มดวง และเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ ก็เป็นช่วงเวลากลางดึกจนถึงเช้ามืด จึงไม่สะดวกต่อการจัดกิจกรรม อีกทั้งช่วงนี้เป็นหน้าฝน ซึ่งไม่แน่ว่าท้องฟ้าจะปิดจนไม่สามารถมองเห็นจันทรุปราคาได้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ดร.ศรันย์ ก็จะเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ อยู่ที่บ้าน จ.เชียงใหม่ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าช่วงเวลานั้นท้องฟ้าจะเปิดหรือไม่

ด้านนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดูดาวเจ้าของหอดูดาวบัณฑิต อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จะเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าว และบันทึกภาพอยู่ที่หอดูดาวบัณฑิต ซึ่งนายวรวิทย์ก็หวังเช่นกันว่า ท้องฟ้าจะเปิดให้เห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้โดยตลอด

สำหรับผู้ที่หวังจะชมจันทรุปราคาในเช้ามืดวันที่ 17 ส.ค. นี้ ควรศึกษาข้อมูลพยากรณ์อากาศไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ผิดหวัง ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มว่า จะมีฝนตกเสียส่วนใหญ่ จึงนำมารายงานให้ทราบกัน โดยข้อมูลสภาพอากาศของประเทศไทยในเว็บไซต์ของอุตุนิยมวิทยา มีดังนี้

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 15-17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 15-17 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วน ในช่วงวันที่ 18-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 15-18 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วน ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 15-18 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วน ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ตะวันออก) ในช่วงวันที่ 15 - 21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูง 1-2

ภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ตะวันตก) ในช่วงวันที่ 15–18 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19–21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

สำหรับ กรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 15-18 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย 30-40 ของพื้นที่ ส่วน ในช่วงวันที่ 19-21 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15–30 กม./ชม.

เมื่อรู้แนวโน้มสภาพอากาศล่วงหน้าอย่างนี้แล้ว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็หวังว่าทุกคนจะเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม และสนุกกับการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้กันทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น