xs
xsm
sm
md
lg

จันทรคราสทำ "ฉางเอ๋อ" ต้องอดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลอง ฉางเอ๋อ 1 ซึ่งรัฐบาลจีนส่งสู่วงโคจร เมื่อเดือน ต.ค.50
ขณะที่เรากำลังลุ้นว่า จันทรุปราคาบางส่วน ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 01.20-04.10 น. ของวันที่ 17 ส.ค.51 ตามเวลาประเทศไทยนั้น สภาพอากาศจะเป็นใจให้เราได้ชมขนาดไหน แต่สำหรับจีนแล้ว กลับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะคราสจะไปรบกวนภารกิจของยานลำน้อย บนดวงจันทร์

"ฉางเอ๋อ 1" (Chang'e 1) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของจีน ที่โคจรรอบบริวารของโลก มานานกว่า 9 เดือนแล้วนั้น จะถูกขโมยแหล่งพลังงานไปชั่วคราว ระหว่างการเกิดปรากฎการณ์จันทรุปราคา เพราะปัจจุบันฉางเอ๋อใช้พลังงานขับเคลื่อน จากแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์จันทรคราส คือการที่โลกโคจรมาคั่นกลาง ระหว่างดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ เกิดเงามืด และเงามัวบนดวงจันทร์ เพราะแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่งถึงดวงจันทร์ได้

สำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน ได้รายงานเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 ว่า นับเป็นความท้าทายครั้งที่ 2 ของฉางเอ๋อ 1 ว่าจะสามารถสลับมาใช้พลังงานจากแบตเตอรีได้มากกว่า 3 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการเกิดคราสหรือไม่

อย่างไรก็ดี ฉางเอ๋อ 1 ได้มีประสบการณ์สลับไปใช้พลังงานจากแบตเตอรีภายในตัวยานแล้วครั้งหนึ่ง ระหว่างการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่นั่นก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

"เงาบนดวงจันทร์ รวมถึงพื้นที่อับสัญญาณ ที่แสงไปไม่ถึง เป็นพื้นที่อุณหภูมิลดต่ำลงถึงจดเยือกแข็ง และอาจทำให้เกิดการจ่ายพลังงานไม่เพียงพอ" หวาง สีเจ้า (Wang Sichao) นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวเพอร์เพิล เมาต์เทน (Purple Mountain Observatory) ในนานกิง กล่าวผ่านซินหัว

ช่วงที่ฉางเอ๋อต้องเผชิญกับคราสครั้งแรกนั้น นักวิทยาศาสตร์ผู้ควบคุมยานได้เปลี่ยนวงโคจรรอบดวงจันทร์ ให้ใช้เวลาสั้นลงกว่าเดิม

ฉางเอ๋อ 1 เป็นหนึ่งใน 3 ภารกิจบนดวงจันทร์ของจีน โดยจุดหมายปลายทางเบื้องตืน คือการส่งยานประเภทโรเวอร์ ( rover vehicle) ที่สามารถวิ่งสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเก็บตัวอย่างดินหิน ส่งกลับสู่โลกให้ได้ภายในปี พ.ศ.2560.
จันทรุปราคาบางส่วน เมื่อเดือน ก.พ.51 มองจากอ่าวในเมืองซานฟรานซิสโก (AFP/Justin Sullivan)
กำลังโหลดความคิดเห็น