"วันมาฆบูชา" ปีนี้ ชาวตะวันตกจะมีโอกาสชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงสีแดงอิฐตั้งแต่ต้นจนจบ นักดาราศาสตร์เมืองแปดริ้วเผยน่าเสียดายคนในเอเชียรวมถึงไทย พร้อมด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮาวาย จะ "อด" ไปตามระเบียบ ชี้หากคนไทยหวังจะชมอาจต้องรอนานถึง 3 ปี
นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์จากหอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันมาฆบูชาซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.พ.51 ที่จะถึงนี้จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกันทำให้เงามืดและเงามัวของโลกทอดไปบดบังดวงจันทร์ทั้งดวง และทำให้ดูเหมือนดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ
อย่างไรก็ดีคนไทยจะพลาดชมปรากฏการณ์ดังกล่าว
เขาเผยว่า จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 51 นี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 07.35 -13.17 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยดวงจันทร์จะโคจรเข้าสู่เงามัวของโลกเวลา 07.35 น. เริ่มเข้าสู่เงามืดเวลา 08.43 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเวลา 10.00 น. เข้าสู่กึ่งกลางคราสเวลา 10.26 น. เริ่มโคจรออกจากเงามืดเวลา 10.51 น. ออกจากเงามืดและสัมผัสกับเงามัวเวลา 12.09 น. และจะสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 13.17 น.
รวมเวลาเกิดปรากฏการณ์ทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 42 นาที โดยดวงจันทร์จะเข้าไปในเงามืดกินเวลานาน 51 นาที
สำหรับพื้นที่ที่ได้ชมปรากฏการณ์ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดได้แก่ ประเทศในแถบยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ และเขตอาร์กติก โดยผู้ชมในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้จะเห็นปรากฏการณ์ในช่วงหัวค่ำวันที่ 20 ก.พ.51 จนถึงเที่ยงคืน ส่วนคนในทวีปยุโรปและแอฟริกาจะเห็นปรากฏการณ์ก่อนดวงจันทร์ตกในเช้ามืดวันที่ 21 ก.พ.51
ขณะที่ประเทศในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเช่นไทย รวมถึงประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะฮาวายจะไม่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวเลย เพราะจะตรงกับช่วงกลางวันที่ดวงจันทร์ได้ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว
"น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ แต่ที่ประเทศอังกฤษจะเห็นได้ชัดทีเดียวซึ่งเขาต่างสนใจดูกันมาก เราก็สามารถติดตามได้จากสำนักข่าวต่างประเทศนำมารายงาน แต่หากเราได้เห็นเองด้วยก็ถือเป็นโอกาสที่พาเยาวชนมาชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์นี้" นายวรวิทย์กล่าว
ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ จ.ฉะเชิงเทรา ให้ข้อมูลต่อไปว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งหน้าในประเทศไทยอาจต้องทิ้งช่วงห่างออกไปเพราะจันทรุปราคาเต็มดวงจะเวียนมาเกิดยังประเทศไทยเป็นประจำทุกๆ 2 -3 ปี แต่หากเป็นจันทรุปราคาบางส่วนนั้นจะมีโอกาสเห็นได้มากกว่าเพราะจะเกิดประจำทุกปี ปีละ 2 -3 ครั้ง
ส่วนนายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวถึงความสำคัญของปรากฏการณ์จันทรุปราคาว่า ในอดีตนักดาราศาสตร์จะศึกษาการเกิดจันทรุปราคาเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์และขนาดของโลกจากปรากฏการณ์นี้ โดยนำระยะเวลาทั้งหมดที่เกิดปรากฏการณ์มาคำนวณ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้การคำนวณแม่นยำขึ้นมาทดแทน
"สำหรับประโยชน์อื่นๆ ที่ได้คือทำให้ผู้คนเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มากขึ้นว่าไม่ใช่ราหูอมดวงจันทร์อย่างคนเชื่อกันเหมือนเมื่อก่อน แต่เราสามารถคำนวณการเกิดล่วงหน้าว่าจะเกิดที่ไหน และเมื่อไร" นายวรเชษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จันทรุปราคาครั้งแรกของปีนี้ก็ไม่ได้เป็นอุปราคาครั้งแรกในปี 2551 โดยนายวรเชษฐ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.51 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเฉลิมฉลองกันก็ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนเป็นอุปราคาครั้งแรกของปีไปแล้ว แต่มีพื้นที่ที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนเป็นพื้นที่แคบๆ เท่านั้น ได้แก่บางหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกา มหาสมุทรใต้ และตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์