xs
xsm
sm
md
lg

ชมดาวหาง "8 พี/ทัตเทิล" เหนือฟ้าเมืองกรุงตลอดมกราฯ นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปราชญ์ดาวหางเมืองแปดริ้ว ชวนนักดูดาวชมดาวหาง 8 พี/ทัตเทิล ผ่านกรุงเทพฯ ตลอด ม.ค.นี้ ระบุ 27 ม.ค.จะเป็นช่วงที่ดาวหางมีความสว่างไสวมากที่สุดก่อนเขยิบออกจากดวงอาทิตย์ พร้อมเรียงภาพนิ่งจัดทำคลิปวีดิโอเก็บไว้เป็นอนุสรณ์

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต อดีตกรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย และครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์จังหวัดฉะเชิงเทรา จากหอดูดาวบัณฑิต ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ดาวหาง 8 พี/ทัตเทิล (8 P/Tuttle) กำลังโคจรผ่านฟากฟ้าทางทิศใต้ของกรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ในช่วงวันที่ 4 -5 ม.ค.51 ดาวหางดวงนี้ได้โคจรผ่านมาตรงกับละติจูดที่ 13.5 องศาเหนือ ซึ่งตรงกับกึ่งกลางท้องฟ้ากรุงเทพฯ พอดี โดยในเวลาดังกล่าวดาวหางได้โคจรผ่านกลุ่มดาวปลา (Pisces) และกลุ่มดาวแกะ (Aries) ตามลำดับ

ในประเทศไทยสามารถชมดาวหาง 8 พี/ทัตเทิลผ่านกล้องโทรทรรศน์มาตั้งแต่ปลาย ธ.ค.50 เรื่อยไปจนถึง มิ.ย.51 โดยนายวรวิทย์ยังได้บันทึกภาพนิ่งดาวหาง 8 พี/ทัตเทิลด้วยกล้องดูดาวไว้ในคืนวันที่ 17 ม.ค.51 กว่า 30 รูปเพื่อจัดทำคลิปวีดิโอ

แต่เนื่องจากคืนดังกล่าวมีเมฆมาบดบังระหว่างถ่ายภาพทำให้ต้องรอถ่ายภาพซ่อมอีกครั้งในคืนข้างแรม 7-8 ค่ำ หรืออีก 5 -6 วันข้างหน้าเพื่อเลี่ยงแสงรบกวนจากดวงจันทร์ คาดว่าจะสามารถนำมาจัดทำคลิปวีดิโอได้นานราว 5 วินาที

สำหรับดาวหาง 8 พี/ทัตเทิลในวันที่ 22 ม.ค.51 นี้มีตำแหน่งปรากฏในกลุ่มดาวเตาหลอม (Fornax) มีโชติมาตร (ความสว่าง) 6.2 ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือด้วยกล้องสองตา โดยกำลังเคลื่อนตัวผ่านโลกในทิศมุ่งเข้าหาโลกทำให้ดูเหมือนว่าดาวหางดังกล่าวเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดาวหางทั่วๆ ไปที่ 70 กม./วินาที

ทั้งนี้ ตำแหน่งของ 8 พี/ทัตเทิลบนท้องฟ้าจะขยับไปเฉลี่ยวันละ 4 องศา จึงเหมาะแก่การถ่ายภาพทำคลิปวีดิโอ ซึ่งดาวหางจะเคลื่อนที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 27 ม.ค.51 คาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดาวหาง 8 พี/ทัตเทิลมีความสว่างไสวมากที่สุดก่อนขยับตัวออกจากดวงอาทิตย์ ขณะที่เมื่อมองจากพื้นโลก ดาวหางดวงนี้จะมีความสว่างมากสุดวันที่ 2 ม.ค.51
แผนภาพวิถีการโคจรของดาวหาง 8พี /ทัตเติล (ภาพจากนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต)
กำลังโหลดความคิดเห็น