xs
xsm
sm
md
lg

ตากล้องอิสระส่งภาพเดียว รับที่หนึ่ง "ภาพถ่ายดาราศาสตร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิธีมอบรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์
สดร.มอบรางวัลภาพถ่ายดาราศาสตร์ ที่งานมหกรรมวิทย์ ด้านตากล้องอิสระเจ้าขงอรางวัลที่หนึ่งเผย ส่งภาพฝนดาวตกเข้าประกวดเพียงชิ้นเดียว ส่วนเจ้าของภาพถ่าย 4 รางวัล เปิดใจ อยากให้มีคนถ่ายภาพดาราศาสตร์มากๆ ระบุไม่สนใจรางวัล แต่สนุกที่ได้ออกไปถ่ายภาพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2551 ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย" เมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 ภายในงานมหกรรมวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัล

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวรายงานว่า การประกวดรางวัลภาพถ่ายดาราศาสตร์นั้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ และเพื่อฉลองปีดาราศาสตร์สากลในปี 2552 นี้ด้วย โดยภาพที่ชนะการประกวดจะนำไปใช่เพื่อการทำสื่อของสถาบันต่อไป

ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ได้แก่



1.ประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพ Banard 33 “Horsehead Nebula” - นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพเนบิวลารูปผ้าคลุมไหล่ (Veil Nebula) - นายพรชัย อมรศรีจิรทร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพเนบิวลาสามแฉก M20 หรือ NGC 6514 TRIFID NEBULA (Diffuse nebula) - นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต
- รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพเพื่อนบ้านที่สวยงามบนฟ้าไทย - ทพ.ชัยยศ หงส์จินดาพงศ์



2.ประเภทภาพถ่าย ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตก - นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ -นายวรดิเรก มรรคทรัพย์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพจันทรุปราคา 1 - นายประพันธ์ ไกรศักดาวัฒน์
- รางวัลชมเชย ได้แก่ ฝนดาวตกลีโอนิด 1 - นายจุมพล ขุยรักขิต



3.ประเภทภาพถ่าย วัตถุในระบบสุริยะ
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (ภาพปรากฏบนท้องฟ้า) - นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพดาวเสาร์วันเด็ก - นายพรชัย อมรศรีจิรทร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ดาวหางมัคโฮลซ์ (C/2004 Q2 Machholz) - นายพรชัย อมรศรีจิรทร
- รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพเคียงเดือน - นายพรชัย อมรศรีจิรทร



4.ประเภทภาพถ่าย ทิวทัศน์กับวัตถุท้องฟ้า
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพแสงสว่างแห่งธรรมในค่ำคืนแห่งดวงดาว - นายชัยวัตร์ ไตรตรงสัตย์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพ ถ่ายดาวยามราตรี - นายเชาวลิต พุ่มโพธิ์
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงที่ไซบีเรียเห็นได้บางส่วนในประเทศไทย - นายเอกชัย ตันวุฒิบัณฑิต
- รางวัลชมเชย ได้แก่ ภาพมหัศจรรย์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ - นายฉัตริน บุญส่ง

โอกาสนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้พูดคุยกับ นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ เจ้าของรางวัลชนะเลิศภาพถ่ายประเภท ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดนั้น เป็นภาพฝนดาวตกที่บันทึกไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยเป็นภาพถ่ายดาราศาสตร์ภาพเดียว ที่เขามีและบันทึกไว้ ซึ่งปกติเขาเป็นช่างภาพอิสระ ที่ถ่ายภาพประกวด และรับถ่ายภาพเชิงท่องเที่ยว

สำหรับภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลนี้ สุเมธีบอกว่า ใช้ฟิล์มสไลด์ในการบันทึก และโชคดีที่ได้จังหวะในการถ่ายภาพ ที่มีองค์ประกอบสวย โดยใช้เวลาในการตั้งกล้อง 40 นาที ทั้งนี้เขาเปิดใจว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์นั้นไม่ยาก เพียงแค่คำนวณเวลาให้ถูกต้อง 

ทางด้าน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินภาพถ่ายดาราศาสตร์ครั้งนี้ เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า มีกรรมการมาจากหลายส่วน ทั้งสื่อมวลชน อาจารย์ด้านวารสารและช่างภาพอาชีพมาช่วยตัดสิน แต่การตัดสินรางวัลก็ไม่ยากนักเพราะภาพที่ได้รับรางวัลมีความโดดเด่นชัดเจน โดยภาพ Deep Sky จะเน้นทั้งเทคนิคและสวยงาม ส่วนภาพทิวทัศน์จะเน้นสวยงามเป็นหลัก

ส่วน นายพรชัย อมรศรีจิรทร ซึ่งได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ถึง 4 รางวัล เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า อันที่จริงควรมีรางวัลสูงสุดเพียงรางวัลเดียว แต่ก็ถือว่าปีนี้เป็นปีแรกที่มีการประกวด ปีหน้าคงจะมีคนส่งเข้าประกวดมากกว่านี้ โดยเขาเองส่งภาพเข้าประกวดถึง 20 ภาพ ซึ่งตอนแรกไม่คิดที่จะส่งประกวด แต่ก็ได้ส่งในภายหลังเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้กับวงการดาราศาสตร์

ทั้งนี้เขาได้เปิดเผยเทคนิคการถ่ายภาพว่า การถ่ายภาพ Deep Sky นั้นยากสุด เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพต้องมีระบบตามดาวตลอด และเครื่องมือต้องมีความแม่นยำมาก แต่ถ้าถ่ายภาพกว้างจะง่ายกว่า โดยยกตัวอย่างการถ่ายภาพเนบิวลา M42 ของเขาเองว่า ต้องถ่ายหลายขั้นตอน เนื่องจากวัตถุที่จะถ่ายนั้นมีความสว่างมาก แต่รอบๆ วัตถุกลับมืดมาก ดังนั้นหากเปิดหน้ากล้องนานๆ จะทำให้วัตถุที่ต้องการบันทึกกลายเป็นภาพสีขาว จึงต้องบันทึกหลายๆ ครั้งแล้วทำการซ้อนภาพ (layer mask) ด้วยคอมพิวเตอร์

พรชัยยังกล่าวถึง ภาพถ่ายของนายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 ในการถ่ายภาพประเภท Deep Sky ว่า เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดาราศาสตร์ที่บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์อีกที ซึ่งถ่ายได้ยาก โดยใช้กล้องซีซีดี (CCD) ที่ยิ่งเปิดหน้ากล้องนานยิ่งถ่ายได้ชัด แต่โดยปกติหากเปิดหน้ากล้องนาน จะยิ่งทำให้ภาพไม่ชัด เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้น จะไปรบกวนความคมชัด จึงต้องมีระบบให้ความเย็นถึงอุณหภูมิติดลบ จึงจะบันทึกภาพได้คมชัด ซึ่งกล้องดาราศาสตร์มีระบบดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าใครก็ถ่ายภาพดาราศาสตร์ได้ และอยากให้คนทั่วๆ ไปส่งประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์มากๆ ซึ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์ประเภทวิว-ทิวทัศน์นั้นเป็นภาพที่ใครก็ถ่ายได้ ขึ้นอยู่กับมุมมอง โดยภาพถ่ายที่ชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้หลายรูปก็ได้เพราะอารมณ์ภาพ บางภาพถ่ายง่ายๆ แต่สวย ซึ่งการประกวดก็ไม่ได้เน้นเทคนิคมากนัก แต่เน้นอารมณ์ ส่วนภาพที่เขาถ่ายบางภาพนั้นถ่ายได้ยาก แต่คนทั่วไปดูแล้วไม่สวยก็มี

"เราส่งภาพประกวดครั้งนี้ก็ไม่ได้หวังรางวัล แต่อยากให้ความร่วมมือ และสร้างกระแสให้คึกคัก ส่วนรางวัลนั้นไม่สำคัญ เราสนุกตรงที่ได้ออกไปถ่ายรูปมากกว่า" พรชัยกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์.
นายสุเมธี เพ็ชร์อำไพ (ขวา) รับรางวัลจาก นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง



คลิกชมภาพที่ได้รับรางวัล
- "แสงธรรมในแสงดาว" หนึ่งในภาพถ่ายดาราศาสตร์ชนะเลิศ


นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ขวา) รับรางวัลจาก นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง
นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ (ขวา) รับรางวัลจาก นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง
นายพรชัย อมรศรีจิรทร (ขวา) รับรางวัลจาก นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง
กำลังโหลดความคิดเห็น