xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ผิดหวัง! ท้องฟ้าเป็นใจให้คนไทยได้ชมจันทรคราสสีแดงอิฐเต็มตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงจันทร์ขณะถูกเงามืดของโลกค่อยๆ บดบังเมื่อเวลาประมาณตี 3 กว่า เหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานครที่สังเกตจากบริเวณที่ทำการสมาคมดาราศาสตร์ไทย (ภาพจาก นายพรชัย อมรศรีจิรทร/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนที่เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 3 นาฬิกากว่าๆ ซึ่งบันทึกภาพไว้โดยนายพรชัย อมรศรีจิรทร ที่สังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้อยู่บริเวณด้านหน้าที่ทำการของสมาคมดาราศาสตร์ไทย เอกมัย กรุงเทพฯ (ภาพจาก นายพรชัย อมรศรีจิรทร/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)


นักดูดาวทั่วเมืองไทยดีใจกันทั่วหน้า ท้องฟ้าเปิดเผยให้เห็นจันทรุปราคาสีแดงอิฐสวยงามตา สมกับที่ตั้งใจรอลุ้นกันคลอดคืนกลางฤดูฝน กรุงเทพฯ ก็ไม่ผิดหวัง หลังช่วงเย็นเมฆฝนเริ่มตั้งเค้า แต่ตกดึกท้องฟ้าก็เริ่มแจ่มใสทันได้ดูเงาโลกพาดบนดวงจันทร์พอดี

กลางดึกของคืนวันที่ 16 ส.ค. ย่างเข้าสู่เช้าวันใหม่ของวันที่ 17 ส.ค. 2551 ได้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนที่สามารถมองเห็นได้หลายประเทศทั่วโลกในเอชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งนักดาราศาสตร์ นักดูดาว ตลอดจนประชาชนทั่วไปต่างก็เฝ้ารอลุ้นชมอุปราคาครั้งสุดท้ายของปีนี้กันอย่างใจจดใจจ่อ และคนไทยก็ไม่ผิดหวังเหมือนเมื่อครั้งสุริยุปราคาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมภาพสวยๆ ของพระจันทร์สีแดงอิฐในคืนวันจันทรุปราคาจากที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาให้ชมกันชัดๆ อีกรอบ เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ติดตามสังเกตการณ์จันทรุปราคาอยู่ที่นั่น ให้ข้อมูลกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ทางอีเมล์ว่าท้องฟ้าเหนือจังหวัดเชียงใหม่มีเมฆปกคลุมตลอดเวลา ทำให้เห็นจันทรคลาสไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

ส่วนสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ตั้งกล้องสังเกตการณ์จันทรุปราคากันอยู่บริเวณที่ทำการของสมาคม ย่านเอกมัย สามารถเห็นปรากฏการณ์และถ่ายภาพไว้ได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต คนรักดาวเจ้าของหอดูดาวบัณฑิต อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ที่สังเกตจันทรุปราคาอยู่ที่หอดูดาวบัณฑิตของตนเอง

ทั้งนี้ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่เงามัวของโลกในเวลา 01.24 น. ซึ่งยังสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ แต่ความสว่างจะลดน้อยลง แต่อาจสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

จากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 02.36 น. ขณะนี้เริ่มสังเกตเห็นดวงจันทร์ถูกเงามืดบดบังไปบางส่วนมีลักษณะเว้าแหว่งไปเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งดวงจันทร์ถูกบดบังมากที่สุด 81% ที่เวลา 04.10 น.

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนได้สิ้นสุดลงในเวลา 05.44 น.เมื่อดวงจันทร์พ้นจากเงามืดของโลก และเคลื่อนออกจากเงามัวของโลกสิ้นสุดลงในเวลา 06.55 น. แต่เนื่องจากดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าที่เวลา 06.12 น. ดังนั้นจึงไม่สามารถติดตามจนจบเหตุการณ์ได้
แม้จะมีเมฆบางๆ เคลื่อนเข้ามาบ้างเป็นระยะ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการชมจันทรุปราคาของชาวสมาคมดาราศาสตร์ไทย (ภาพจาก นายพรชัย อมรศรีจิรทร/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
เริ่มเห็นจันทร์เป็นสีแดงอิฐ (ภาพจาก นายพรชัย อมรศรีจิรทร/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
ภาพรุ้ง 2 ตัว ช่วงเย็นก่อนเกิดปรากฏการณ์ บริเวณท้องฟ้าสมาคมดาราศาสตร์ฯ (ภาพจาก นายพรชัย รังสีธนะไพศาล/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
ปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ทรงกรด Moon Halo จุดสว่างทางด้านขวาคือ ดาวพฤหัส อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (ภาพจาก นายพรชัย รังสีธนะไพศาล/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
บรรยากาศการบันทึกภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคา (ภาพจาก นายพรชัย รังสีธนะไพศาล/สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
จันทรคราสเต็มๆ ตา ที่หอดูดาวบัณฑิต จ.ฉะเชิงเทรา เวลา 03.07 น. ของวันที่ 17 ส.ค. 2551 (ภาพจาก นายวรวิทย์ ตัณวุฒิบัณฑิต)
ท้องฟ้าเหนือ จ.เชียงใหม่ เต็มไปด้วยเมฆขมุกขมัว ทำให้เห็นจันทรุปราคาไม่ชัดเจน ส่วนจันทรุปราคาบางส่วนภาพนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ถ่ายผ่านหมู่เมฆเมื่อเวลา 03.04 น. ของวันที่ 17 ส.ค. 2551 ที่ จ.เชียงใหม่ (ภาพจาก ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา)
จันทรุปราคาบางส่วนเหนือท้องฟ้ากรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน บันทึกโดย Farooq NAEEM (ภาพจาก AFP)
ชาวปากีสถานก็ได้เห็นจันทรคราสสวยงามเช่นเดียวกับประชาชนในอีกหลายประเทศ ซึ่งภาพนี้บันทึกโดย Farooq NAEEM (ภาพจาก AFP)
ภาพแสดงลำดับการเกิดจันทรุปราคาบางส่วนที่นักดาราศาสตร์ทำขึ้นจากการสังเกตจันทรุปราคาในกรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน (ภาพจาก AFP)
เงาโลกค่อยๆ พาดลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ทีละน้อยๆ บันทึกโดย Farooq NAEEM (ภาพจาก AFP)
จันทรคราสสีแดงอิฐที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ บันทึกโดย Aris Messinnis (ภาพจาก AFP)
ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็มองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งด้วยเหมือนกัน บันทึกภาพไว้โดย Johan Nilsson (ภาพจาก AFP)
มองจากกรุงสตอกโฮมล์ม สวีเดน ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบดบังถึง 84% ซึ่งภาพนี้บันทึกโดย Johan Nilsson (ภาพจาก AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น