xs
xsm
sm
md
lg

เอนหลังชม "มหัศจรรย์แห่งจักรวาล" แอนิเมชันแบบฟูลโดม ของใหม่ในท้องฟ้าจำลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ วิทยากรประจำห้องฉายดาว ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ครบ 45 ปี ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ปรับโฉมใหม่ฉลองปีดาราศาสตร์สากล เพิ่มความทันสมัยด้วยระบบดิจิทัล ฉายหนังแอนิเมชันแบบ "ฟูลโดม" ครั้งแรก ประเดิมด้วยเรื่อง "มหัศจรรย์แห่งจักรวาล" เต็มอิ่มกับความรู้เรื่องกล้องดูดาวและการค้นพบทางดาราศาสตร์ ควบคู่การแสดงด้วยเครื่องฉายดาวสุดคลาสสิกตัวเดิม พร้อมเพิ่มรอบพิเศษ เปิดให้ชมฟรีทุกเย็นวันเสาร์ ตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้

ปีนี้ครบรอบ 400 ปี ที่กาลิเลโอใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจักรวาลเป็นครั้งแรก และครบรอบ 45 ปี ของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ท้องฟ้าจำลองแห่งแรกของคนไทยจึงขอปรับโฉมใหม่เล็กน้อยเพื่อให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแต่ยังไม่ทิ้งความคลาสสิกในแบบเดิม ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการแสดงร่วมกับเครื่องฉายดาวตัวเดิม เพิ่มอรรถรสในการดูดาวใต้ท้องฟ้าจำลองแบบฟูลโดม (full dome) ด้วยภาพยนตร์ดาราศาสตร์แสนสนุกเรื่อง "มหัศจรรย์แห่งจักรวาล" ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ไปดูมาแล้วในกิจกรรมรวมพลคนรักดาว ที่จัดโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 15 ส.ค.52 ที่ผ่านมา

นายกระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ หรือ อ.กระจ่าง นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายดาวในรอบพิเศษครั้งนี้ ให้ข้อมูลกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า เนื่องจากปีนี้เป็นปีครบรอบ 45 ปี การก่อตั้งท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และตรงกับปีดาราศาสตร์สากลด้วย ผู้บริหารจึงได้มีนโยบายปรับปรุงท้องฟ้าจำลองเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญดังกล่าว และเพิ่มความรู้และความบันเทิงให้กับผู้ที่เข้ามาดูการแสดงฉายดาวในท้องฟ้าจำลองด้วย

การปรับโฉมของท้องฟ้าจำลองในครั้งนี้ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท ด้วยการติดตั้งระบบโปรเจคเตอร์สำหรับฉายภาพยนตร์แบบฟูลโดม จำนวน 7 เครื่อง เพื่อฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับดาราศาสตร์และอวกาศเสริมกับการฉายดาวของค่ำคืนวันนั้นบนท้องฟ้าจำลองด้วยเครื่องฉายดาวที่มีอยู่เดิม ซึ่งระบบดิจิทัลที่ติดตั้งเพิ่มเติมนี้ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนของคนไทย ส่วนภาพยนตร์ที่นำมาฉายซื้อจากบริษัทต่างประเทศที่ผลิตภาพยนตร์สำหรับฉายแบบฟูลโดม

สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่เลือกมาฉายคือเรื่อง "มหัศจรรย์แห่งจักรวาล" หรือ "แก้วเล็กๆ 2 ชิ้น" (Two Small Pieces of Glass) ที่แปลตามความหมายของชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและสอดรับกับปีดาราศาสตร์สากลด้วย เพราะเป็นเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน ที่กาลิเลโอนำแก้วชิ้นเล็กๆ 2 ชิ้น มาฝนเป็นเลนส์ และนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นกล้องโทรทรรศน์ ที่กาลิเลโอใช้ส่องมองขึ้นไปบนสวรรค์เป็นครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นประตูสู่จักรวาลของมวลมนุษย์ เป็นบ่อเกิดของความรู้ด้านดาราศาสตร์สมัยใหม่ และวิทยาการของกล้องโทรทรรศน์ในเวลาต่อมา ที่ช่วยให้มนุษย์เรามองเห็นย้อนกลับไปในเอกภพได้ถึง 13,600 ล้านปี ซึ่งดำเนินเรื่องผ่านตัวละครที่เป็นกลุ่มนักเรียนและนักดาราศาสตร์ที่ร่วมทำกิจกรรมสตาร์ปาร์ตี้ ตั้งกล้องส่องดูดาวกลางป่า

ระบบฉายแบบฟูลโดมที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เริ่มเปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ส.ค.52 ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ อ.กระจ่างบอกว่า ยังไม่พบว่ามีปัญหาใดๆ นอกจากปัญหาเสียงขาดหายไปในช่วงท้ายของการแสดงในรอบแรกๆ ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขให้เป็นปกติแล้ว และจากการสังเกตปฏิกิริยาผู้เข้าชม ก็เห็นว่าผู้ชมส่วนใหญ่พึงพอใจกับการแสดงดาวรูปแบบใหม่นี้ ตั้งใจชมการแสดงมากขึ้น ทุกคนได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์จนแทบไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม

นอกจากเปิดการแสดงในห้องฉายดาวตามเวลาทำการปกติแล้ว ท้องฟ้าจำลองยังได้เปิดฉายรอบพิเศษ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี ทุกวันเสาร์ เวลา 18.00 น. ตลอดเดือน ส.ค.- ก.ย. และหากอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าเปิด ก็จะมีกิจกรรมตั้งกล้องดูดาวด้วยหลังจากจบการแสดงรอบพิเศษดังกล่าว

เยาวชนและประชาชนที่สนใจสามารถไปชมการแสดงของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพแบบฟูลโดมกันได้ทุกวัน อังคาร-อาทิตย์ (วันจันทร์ปิดทำการ) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา โทรศัพท์ : 0-2391-0544, 0-2392-0508, 0-2392-1773 หรือ http://www.sci-educ.nfe.go.th
บรรยากาศภายในห้องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ มีเครื่องฉายดาวตั้งโดดเด่นอยู่ตรงกลางห้อง และมีโปรเจคเตอร์ฉายภาพยนตร์แบบฟูลโดมจำนวน 7 เครื่อง ติดตั้งอยู่รอบห้อง
ภาพบางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง Two Small Pieces of Glass (ภาพจาก animation.mirage3d.nl)
ภาพบางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง Two Small Pieces of Glass (ภาพจาก animation.mirage3d.nl)
ภาพบางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง Two Small Pieces of Glass (ภาพจาก animation.mirage3d.nl)
ภาพบางตอนจากภาพยนตร์เรื่อง Two Small Pieces of Glass (ภาพจาก animation.mirage3d.nl)
กำลังโหลดความคิดเห็น