วช. ระดมความคิดนักวิจัย-นักกฎหมาย ร่วมกำหนดทิศทางวิจัยสเต็มเซลล์ในไทย เลขาฯ วช. ติงนักวิจัยไม่ควรพูดมาก หากยังไม่รู้จริง หวั่นทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ด้านนักกฎหมายธรรมศาสตร์ระบุ เอกชนหลายรายโฆษณาเกินจริงว่ารักษาได้ด้วยสเต็มเซลล์ ทั้งที่ยังอยู่แค่ขั้นตอนวิจัย แต่กลับไม่บอกผู้เข้าร่วมตามตรง และยังไม่มีกฎหมายรองรับให้เอกชนทำวิจัยในคนได้
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมระดมสมองเรื่อง "โอกาสหรือวิกฤตการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัย ด้านเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยต่อไป ซึ่งมีนักวิจัยและนักกฎหมายที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการ วช. กล่าวว่า การศึกษาวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยถือว่าก้าวหน้ามาก แต่ก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับนานาชาติ และการวิจัยสเต็มเซลล์ก็ยังใช้รักษาได้ในบางโรคเท่านั้น เช่น โรคกระดูก โรคเลือดบางชนิด
ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการวิจัยสเต็มเซลล์ในระดับคลินิกมากนัก เนื่องจากต้องดำเนินการวิจัยโดยอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและมีจริยธรรม จึงได้พยายามระดมความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางและกำหนดทิศทางการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการวิจัยสเต็มเซลล์สำหรับรองรับการนำไปรักษาผู้ป่วยในอนาคต ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษาและเป็นที่ยอมรับของสังคม รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของประเทศไทยที่จะก้าวไปสู่การเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub)
ทั้งนี้ แนวทางการจัดการด้านการวิจัยสเต็มเซลล์ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน การวิจัยจะต้องเป็นไปโดยก่อให้เกิดองค์ความรู้มากที่สุด กระบวนการนำไปใช้ประโยชน์ โดยหากนำไปใช้เพื่อการรักษา จะต้องมีการจัดการด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐาน รวมถึงการดำเนินการภายใต้ห้องปฎิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในการวิจัยนั้น อาจต้องลงทุนมหาศาลเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เช่น การลงทุนสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขนาดยักษ์ของเซิร์น เพื่อศึกษาการกำเนิดจักรวาล ในด้านสเต็มเซลล์ก็เช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าหากนำมาใช้รักษาแล้วจะเกิดผลอย่างไร ก็ต้องทำการศึกษาวิจัย ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีทางรู้ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร
"เมื่อพูดถึงเรื่องสเต็มเซลล์ ก็จะมีการตีความไปต่างๆ นานา ซึ่งไม่อยากให้สังคมมองสเต็มเซลล์คล้ายกับจีเอ็มโอ ทั้งที่จีเอ็มโอไม่ได้น่ากลัวดังที่ถูกวาดภาพไว้ ฉะนั้นในเรื่องสเต็มเซลล์ นักวิจัยไม่ควรพูดมากหากยังไม่รู้จริง หากยังไม่มีการศึกษาและได้ข้อมูลที่แท้จริงก็ไม่ควรพูดออกไป อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดพลาดได้" ศ.ดร.อานนท์กล่าว
ศ.ดร.อานนท์ ยังบอกอีกว่า การวิจัยด้านสเต็มเซลล์ของแต่ละหน่วยงานจะต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันกันเป็นอย่างดี และเกิดความรู้แบบองค์รวม ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยอาจต้องใช้เวลานาน และต้องมีการต่อยอดเพื่อให้เกิดองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น แต่หากทำการวิจัยไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง ดังเช่นในด้านการเกษตรที่หากมีนักวิจัยบอกว่าปลูกพืชชนิดนี้แล้วจะได้ผลผลิตดี เกษตรกรก็หันมาปลูกพืชเดียวกันหมด และสุดท้ายก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา
อย่างไรก็ตาม กรณีที่แพทยสภากำลังผลักดันร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เวชกรรม พ.ศ...ว่าด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ตนกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคน ให้มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในเร็วๆนี้ ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ เพราะแพทยสภามุ่งไปที่การดูแลเรื่องนำสเต็มเซลล์ไปใช้ในการรักษา มากกว่าที่จะเข้ามาควบคุมการทำวิจัย
ด้าน ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส นักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เรื่องสเต็มเซลล์ในประเทศไทยถือว่าก้าวกระโดดมากเกินไป เพราะมีภาคเอกชนหลายแห่งโฆษณาเกินจริงว่าสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคได้ ทั้งที่ยังอยู่ในระดับการวิจัยที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะเป็นประโยชน์อย่างที่คาดหมายหรือหรือมีผลเสียแอบแฝงอยู่
"สเต็มเซลล์ยังเป็นเรื่องใหม่ เซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาฉีดให้ผู้ป่วยอาจยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะพัฒนาไปเป็นอะไร หากกลายเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างเดียวกับอวัยวะที่ต้องการรักษา สเต็มเซลล์นั้นก็จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม คล้ายกับอนุมูลอิสระที่ร่างกายไม่อาจควบคุมได้ สุดท้ายกลายเป็นมะเร็ง" ศ.แสวงกล่าว
"ฉะนั้นจึงไม่ควรกล่าวเกินจริงว่าสามารถรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้ ถ้ายังอยู่ในขั้นวิจัยก็ควรแจ้งกับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการว่าเป็นการทำวิจัย และต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ที่บอกได้ว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร รวมถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย" ศ.แสวงกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสเต็มเซลล์
ส่วนการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ทางการแพทย์วิจัยแล้วและพบว่าผลการรักษาดีเป็นที่น่าพอใจ และสามารถใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาได้ ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาพว่าด้วยการรักษาจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
ศ.แสวงกล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.การวิจัยในคน โดยเฉพาะ มีแต่กฎกติกาของหน่วยงานที่ได้รับการรองรับด้วยกฎหมาย และมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมขึ้นมาเพื่อพิจารณาอนุญาตการทำวิจัยในคน ขณะที่ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นภาคเอกชนจึงไม่สามารถทำการวิจัยสเต็มเซลล์ในคนได้ ซึ่งจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ว่าควรหรือไม่ควร ส่วนกฎหมายเป็นเรื่องของถูกหรือผิด
นอกจากนั้น กฎหมายไทยในปัจจุบันคุ้มครองตัวอ่อนมนุษย์ตั้งแต่เมื่อเริ่มปฏิสนธิและฝังตัวในครรภ์มารดา แต่ยังไม่มีการคุ้มครองชีวิตตัวอ่อนก่อนการฝังตัวในโพรงมดลูกทั้งในทางแพ่งและทางอาญา เพราะถือว่าสภาพของชีวิตยังไม่เริ่มต้น ขณะที่ในบางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองและให้สิทธิตัวอ่อนเหล่าเหล่านี้ในการที่จะมีชีวิตต่อไปได้ และในปัจจุบันก็มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากมีการนำตัวอ่อนที่อยู่นอกครรภ์มารดาไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านสเต็มเซลล์
ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ของประเทศไทยที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ได้มีการบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดทำการซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งเซลล์สืบพันธุ์หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้า และห้ามสร้างหรือใช้เซลล์ต้นกำเนิดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้เป็นแหล่งที่มาของเซลล์สืบพันธุ์หรือเซลล์ร่างกายที่นำมาใช้ในการนั้น
"โอกาสหรือวิกฤต ขึ้นอยู่ที่เรา ถ้าเราทำอย่างดีก็ถือว่าเป็นโอกาส แต่ถ้าเราทำไม่ดีก็จะทำให้เกิดวิกฤตตามมาได้" ศ.แสวง กล่าวทิ้งท้าย.