ทีมวิจัยเกาหลีใต้ โคลนนิงหมูตัวเล็กสำเร็จเป็นรายที่สอง รองจากสหรัฐฯ แต่แตกต่าง เพราะเป็นลูกหมูจีเอ็มโอที่หวังดัดแปลงให้อวัยวะเหมาะแก่การใช้เปลี่ยนถ่ายให้คน คาดอีก 3 ปี เริ่มทดสอบระดับคลินิก
นักวิทยาศาสตร์จาก 4 มหาวิทยาลัย และ 2 สถาบันวิจัย ในประเทศเกาหลีใต้ ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Science and Technology) ในการวิจัยโคลนนิงหมูดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เพื่อให้มีอวัยวะที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่าลูกหมูตัวดังกล่าวคลอดออกมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.52 ที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยตั้งชื่อให้ว่า "ซีโน" (Xeno)
ลิม เกียว-บิน (Lim Gio-Bin) หัวหน้าทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า ซีโนเป็นลูกหมูเพศผู้ที่เกิดจากการโคลนนิงโดยใช้สเต็มเซลล์ของหมูขนาดเล็กหรือ (mini-pigs) เป็นตัวต้นแบบ และเป็นตัวเดียวที่รอดชีวิตจากตัวอ่อนโคลนนิงทั้งหมด 100 ตัว
นักวิจัยใช้วิธีการโคลนนิงแบบเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ โคลนนิงลูกหมูขนาดเล็กเมื่อปี 2545 แต่ทีมวิจัยของเกาหลีได้มีการดัดแปลงพันธุกรรมบางส่วนของซีโน โดยทำให้ยีน อัลฟา-แกล (alpha-gal) ขาดหายไป 1 สำเนา เพื่อให้สามารถนำอวัยวะของหมู ไปใช้เปลี่ยนถ่ายให้กับผู้ป่วยได้โดยที่ร่างกายผู้ป่วยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน
เนื่องจากการปฏิเสธของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นอุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วย ขณะที่อวัยวะของหมูก็มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เปลี่ยนถ่ายได้ ทว่าอวัยวะของหมูที่มีโมเลกุลของน้ำตาลเกาะอยู่บริเวณผิวรอบนอกเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิเสธอย่างรุนแรงเมื่อมีการนำมาปลูกถ่ายในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งจะถูกแอนติบอดีในร่างกายทำลายอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ยีนดังกล่าวมีหน้าที่ควบคุมการสร้างน้ำตาล หมูปรกติจะมียีนนี้ 2 สำเนา โดยได้รับมาจากพ่อและแม่อย่างละ 1 สำเนา และทีมวิจัยก็กำลังพยายามสร้างหมูที่ปราศจากยีนนี้ไปเลย แต่ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังเร่งโคลนนิงหมูเพศเมียที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมแบบเดียวกันกับซีโน เพื่อให้เป็นคู่กัน โดยหวังว่าการจับคู่ของหมูโคลนนิงทั้ง 2 ตัวนี้ จะช่วยผลิตลูกหมูจีเอ็มโอได้จำนวนมากที่มีอวัยวะภายเหมาะแก่การนำไปเปลี่ยนถ่ายให้แก่มนุษย์
"ความสำเร็จของเราทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่สามารถโคลนนิงลูกหมูขนาดเล็กได้ และผมก็เชื่อว่าวิธีการของเรานั้นดีกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ ซีโนช่วยให้เราสั่งสมเทคโนโลยีและแหล่งทรัพยากรที่สามารถใช้สร้างหมูตัวเล็กที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นและจำนวนมากขึ้น" ลิม กล่าว โดยทีมวิจัยวางแผนไว้ว่าจะเริ่มทดสอบการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในระดับคลินิกในปี 2555 และเชื่อว่าจะสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ราวปี 2560