xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ผู้ดีสะดุด มะกันชี้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนลูกผสม "คน-สัตว์" ไม่ดีอย่างที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์นำเซลล์ไข่ของกระต่ายมาใช้โคลนนิงตัวอ่อนลูกผสมโดยใส่ดีเอ็นเอของมนุษย์เข้าไป เพื่อสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนสำหรับศึกษาวิจัย ล่าสุดพบว่าการใช้เซลล์ไข่ของสัตว์ทำให้ได้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ (รอยเตอร์ส)
งานวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนลูกผสมของนักวิจัยเมืองผู้ดีทำท่าว่าจะไปได้สวย แต่ล่าสุดมีผลการศึกษาใหม่ออกมาชี้ว่า ตัวอ่อนลูกผสมที่นำดีเอ็นเอของมนุษย์ไปใส่ในเซลล์สัตว์ ปรากฏว่าไม่ได้ช่วยสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างที่คิด เพราะพบความผิดปรกติของยีน

ดร.โรเบิร์ต แลนซา (Dr.Robert Lanza) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีเซลล์ขั้นสูง (Advanced Cell Technology) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ออกมาเผยผลการวิจัยที่พบว่า การสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์ หรือไฮบริดเอมบริโอ (hybrid embryo) เพื่อเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวสเต็มเซลล์ตัวอ่อนสำหรับใช้งานวิจัยนั้น ไม่ใช่วิธีการสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพ เพราะสเต็มเซลล์ที่ได้มียีนผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลวิจัยดังกล่าวในวารสารโคลนนิงและสเต็มเซลล์ (Cloning and Stem Cells) เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทีมวิจัยของ ดร.แลนซา ได้ทดลองสร้างตัวอ่อนมนุษย์และตัวอ่อนลูกผสม โดยนำดีเอ็นเอของมนุษย์ใส่เข้าไปในเซลล์ไข่ของมนุษย์, วัว และกระต่าย ที่ได้นำดีเอ็นเอเดิมออกไปแล้ว จากนั้นเพาะเลี้ยงให้เจริญเป็นตัวอ่อนในระยะต้นๆ

เมื่อตรวจสอบยีนในตัวอ่อนแต่ละกลุ่ม โดยใช้เทคนิคใหม่ที่ช่วยวิเคราะห์การแสดงออกของยีนทั้งหมด (global gene expression analysis) เพื่อดูว่ายีนไหนทำงานหรือไม่ พบว่ายีนของตัวอ่อนที่ได้จากเซลล์ไข่ของมนุษย์ มีรูปแบบการทำงานเหมือนกับตัวอ่อนมนุษย์ปรกติทั่วไป ทว่ายีนของตัวอ่อนที่มาจากเซลล์ไข่ของสัตว์ กลับมีรูปแบบแตกต่างออกไปมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้ไข่ของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นส่งผลให้หลายยีนในตัวอ่อนไม่ทำงาน

ด้านเอียน วิลมุต (Ian Wilmut) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สกอตแลนด์ ผู้โคลนนิงแกะดอลลี และบรรณาธิการวารสารเล่มดังกล่าว ระบุในรอยเตอร์สว่า ผลวิจัยของ ดร.แลนซา สร้างความผิดหวังให้กับนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

ส่วน ดร.แลนซา เองก็ได้เสนอแนะว่า ยังอาจมีวิธีอื่นที่ช่วยสร้างสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการโคลนนิงตัวอ่อนมนุษย์โดยใช้เซลล์ของตัวอ่อนที่ได้จากการทำเด็กหลอดแก้ว และการเหนี่ยวนำให้สเต็มเซลล์ในผู้ใหญ่ย้อนกลับไปเป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อน

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มีศักยภาพในการรักษาโรคได้หลายชนิด แต่เซลล์ไข่ของผู้หญิง ที่จะนำมาใช้สร้างตัวอ่อนเพื่อการวิจัยและผลิตสเต็มเซลล์ ที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยนั้นหายาก นักวิจัยจึงเกิดแนวคิดการนำเซลล์ไข่ของสัตว์ที่หาได้ง่ายกว่ามาใช้ทดแทน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษก็ได้อนุญาตให้นักวิจัยทำการทดลองดังกล่าวได้เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สตีเฟน มินเจอร์ (Stephen Minger) จากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน (King's College London) หนึ่งในนักวิจัยที่ได้รับอนุญาตให้ทำโคลนนิงตัวอ่อนลูกผสมเพื่องานวิจัย ได้อ้างถึงผลการวิจัยฉบับหนึ่งเมื่อปี 2551 ซึ่งรายงานว่ายีนสำคัญๆ ในตัวอ่อนที่สร้างจากเซลล์ไข่ของวัวก็ทำงานได้เช่นกัน แม้ว่าอาจจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าก็ตาม และยังสรุปด้วยว่าเซลล์ไข่ของวัวสามารถนำมาใช้ได้หากมีการพัฒนาเทคนิคให้ดียิ่งขึ้น

มินเจอร์ยังได้กล่าวถึงผลวิจัยของแลนซาว่า เขาอาจจะพิจารณาตัวอ่อนที่พัฒนาในระยะต้นเกินไป ทำให้ผลที่ออกมาเป็นอย่างนั้น ขณะที่แลนซาเองก็โต้แย้งว่าผลงานวิจัยที่มินเจอร์นำมากล่าวอ้างนั้นไม่น่าเชื่อถือ.
กำลังโหลดความคิดเห็น