xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยพยายามไขปริศนา ทำไมสัตว์ส่วนใหญ่ถึงไม่เปลี่ยนเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างสัตว์บางชนิดที่สามารถเปลี่ยนเพศได้ เช่น (ตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากบนซ้าย) ปลา Thalassoma bifasciatum, กุ้ง Pandalus borealis, หอย Crepidula fornicate และ ปลา Bryaninops yongei (ไซน์เดลี/Erem Kazancıoğlu)
สงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมสัตว์บางชนิดมี 2 เพศในตัวเดียว หรือสามารถเปลี่ยนจากเพศได้ ขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบ จากการศึกษาแบบจำลอง ก็พอจะได้คำอธิบายบ้างว่าเพราะเวลาการเปลี่ยนเพศที่ใช้มากถึง 30% ของชีวิต และการเอาใจใส่ของพ่อแม่ ทำให้สัตว์ใหญ่ยังคงมีเพศเดียว

สัตว์ส่วนใหญ่แยกเพศผู้และเพศเมียออกจากกันชัดเจน แต่ยังมีสัตว์บางชนิด ที่ใช้เวลาช่วงของชีวิตเป็นเพศหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาหนึ่งก็เปลี่ยนไปเป็นอีกเพศได้ ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า "ซีเควนเชียล เฮอร์แมฟรอไดติซึม" (sequential hermaphroditism) หรือ การสลับเพศของสัตว์ที่มี 2 เพศในตัวเดียว

เราเรียกลักษณะของการมี 2 เพศในตัวเดียวว่า "กะเทย" ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเรื่องน่าพิศวงว่า ทำไมปรากฏการณ์ลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นได้ยาก

ไซน์เดลีรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาวิเคราะห์อุบัติการณ์ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่า กระบวนการที่สัตว์สามารถเปลี่ยนเพศของตัวเองได้ กลายเป็นรูปแบบที่ได้รับเลือกให้วิวัฒนาการต่อมา

แต่เพราะเป็นรูปแบบที่ไม่ธรรมดา หรือพบได้ทั่วไป ทำให้ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนทางชีววิทยาเปรียบเทียบกับผลที่ได้รับ

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนเพศ เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ตั้งแต่พืชไปจนถึงปลาบางชนิด ซึ่งจากการที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานถึง 4 ทศวรรษ จึงพอจะประเมินได้ว่า ทำไมการเปลี่ยนเพศจึงเป็นพฤติกรรมที่มีความได้เปรียบ หรือเป็นประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ทว่าสิ่งที่ยังเป็นคำถามคาใจอยู่ก็คือว่า ทำไมลักษณะแบบนี้จึงไม่พบในสัตว์ส่วนใหญ่

อีเรม คาซานซิโอกลู (Erem Kazancıoglu) นักศึกษามหาวิทยาลัยเยล ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซูซานเน อลอนโซ (Suzanne Alonzo) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิเวศน์วิทยาและชีววิวัฒนาการ สันนิษฐานว่า เวลาหรือพลังงานจำนวนมากที่สัตว์กะเทยใช้ในการเปลี่ยนเพศนั้น อาจไม่เหมาะสมกับสัตว์ส่วนใหญ่

พวกเขาทำการทดลอง โดยสร้างแบบจำลองเชิงทฤษฎีจากข้อมูลของสิ่งมีชีวิตที่มี 2 เพศในตัวเดียว เทียบกับสิ่งมีชีวิตที่แยกเพศชัดเจน พบว่าสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนเพศได้นั้น มีช่วงระยะเวลาในการเปลี่ยนเพศที่หลากหลายไม่แน่นอน

ส่วนพวกที่แยกเพศนั้น มีกลยุทธ์ที่แสดงออกมา โดยการผลิตลูกหลานแต่ละเพศในจำนวนที่แตกต่างกันไป

"เราประหลาดใจมาก ที่พบว่าสิ่งมีชีวิตที่มี 2 เพศในตัวเดียวเสียเวลาถึง 30% ของช่วงชีวิต ให้กับกระบวนการสับเปลี่ยนเพศ และยังคงลักษณะเช่นนี้ไว้ ในประชากรของพวกมัน และนี่ก็บอกได้บ้างแล้วว่า เฉพาะแค่เวลาที่สูญเสียไปเป็นจำนวนมากมาย ก็ทำให้การเปลี่ยนเพศไม่ได้รับการยอมรับในสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่" นักวิจัยอธิบายเหตุผล

ฉะนั้น ทำไมพฤติกรรมการเปลี่ยนเพศ จึงเป็นลักษณะที่พบได้ยาก และทำไมปลาสปีชีส์หนึ่งถึงได้มีระบบสืบพันธุ์ที่แยกเพศชัดเจน ขณะที่อีกสปีชีส์หนึ่งที่ใกล้ชิดกันมาก จึงยอมให้มีการเปลี่ยนเพศได้นั้น

จากการศึกษาเปรียบเทียบระบบการจับคู่เพื่อสืบพันธุ์ ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มี 2 เพศในตัวเดียว กับที่แยกเพศคนละตัว ให้ข้อมูลบางอย่างว่า พฤติกรรมเกี่ยวกับการสืบพันธุ์บางอย่าง เช่น การดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ ดูเหมือนเป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนเพศได้ในสัตว์บางสปีชีส์

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพิสูจน์กันอยู่ว่า รูปแบบของการสืบพันธุ์ที่พบโดยทั่วไป จะสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า ทำไมปรากฏการณ์เปลี่ยนเพศจึงหาได้ยาก ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลการพิสูจน์จะอธิบายข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

รายงานผลการศึกษาครั้งนี้ จะได้รับการเผยแพร่ในวารสาร เดอะ อะเมริกัน เนเชอรัลลิสต์ (The American Naturalist) ในเร็วๆ นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น