xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาเทคนิคใหม่ไม่ใช้ไวรัสสร้างสเต็มเซลล์ ลดเสี่ยงเป็นมะเร็งภายหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาวิธีการสร้างสเต็มเซลล์ตัวอ่อนจากเซลล์ผิวหนังได้อีกขั้น โดยไม่ต้องใช้ไวรัส ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเมื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วย (ภาพจากแฟ้ม)
นักวิทย์พัฒนาเทคนิคใหม่ ทำเซลล์ผิวหนังให้เป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ โดยไม่ต้องใช้ไวรัสเป็นตัวช่วย ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในผู้ป่วยหากนำไปใช้จริง ขยับเข้าใกล้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนแบบไม่ทำลายตัวอ่อน

ผลงานวิจัยของ ศ.ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเมื่อ 2 ปีก่อน ได้รับการต่อยอดโดยทีมนักวิจัยสก็อตแลนด์ร่วมกับแคนาดา ที่พัฒนาวิธีการนำดีเอ็นเอสำคัญเข้าสู่เซลล์ โดยไม่ต้องพึ่งพาไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่าได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2552

ความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิค ที่สามารถเปลี่ยนให้เซลล์ผิวหนังกลายเป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ หรือที่เรียกว่า ไอพีเอส (induced pluripotent stem cells: iPS) โดยทีมวิจัยของ ศ.ยามานากะ เมื่อปี 2550 สร้างความหวังให้กับวงการวิทยาศาสตร์ และลดการต่อต้านจากสังคมได้ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ได้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนโดยที่ไม่ต้องทำลายตัวอ่อนหรื่อยุ่งเกี่ยวกับตัวอ่อนเลย

วิธีการของ ศ.ยามานากะ ในการนำยีน 4 ยีน ที่มีบทบาทสำคัญในสเต็มเซลล์ตัวอ่อนใส่เข้าไปในเซลล์ผิวหนัง เพื่อทำให้เซลล์ผิวหนังกลายเป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ต้องใช้ไวรัสเป็นตัวนำพายีนเหล่านั้นเข้าสู่เซลล์ ซึ่งอาจนำไปใช้กับผู้ป่วยไม่ได้จริงๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดมะเร็ง

ทว่าข้อกังวลดังกล่าว ได้รับการแก้ไขโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยแอนเดรียส์ นากี (Andreas Nagy) จากสถาบันวิจัย ซามูเอล ลูเนนเฟลด์ (Samuel Lunenfeld Research Institute) โตรอนโต แคนาดา และเคสึเกะ คาจิ (Keisuke Kaji) จากศูนย์การแพทย์เพื่อการสร้างอวัยวะใหม่ (Centre for Regenerative Medicine) มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สก็อตแลนด์

ข่าวจากนิตยสารเนเจอร์ระบุว่า พวกเขาที่พัฒนาวิธีการนำยีนสำคัญเข้าสู่เซลล์โดยอาศัย พิกกีแบค (piggyBac) นำยีนดังกล่าวเข้าไปสอดแทรกในโครโมโซม ซึ่งพิกกีแบคนั้นถูกใช้ในการดัดแปลงพันธุกรรมพืชอยู่ก่อนแล้ว

จากการทดลองกับเซลล์ผิวหนังของหนูทดลองและของมนุษย์ พบว่ามีการพัฒนาไปเป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้อย่างมีศักยภาพเช่นกัน และนักวิจัยยังสามารถกำจัดยีนที่ใส่เพิ่มเข้าไปในตอนแรกได้ด้วย

"ผมตื่นเต้นอย่างมาก เมื่อพบว่ามีเซลล์ที่เหมือนกับสเต็มเซลล์เกิดขึ้นในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นไปได้จริงๆ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งวิธีการนี้น่าจะใช้ได้ผลในทางการแพทย์ และยังช่วยหลีกเลี่ยงการใช้สเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนด้วย" คาจิ กล่าวในสำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีนิวส์

ด้าน เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) นักวิทยาศาสตร์ผู้ให้กับเนิดแกะดอลลี ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยที่คาจิสังกัดอยู่ เผยว่าผลสำเร็จในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังมากขึ้นในการสร้างอวัยวะใหม่เพื่อการรักษา ซึ่งอาจประสบผลสำเร็จได้ในอีกไม่นานนี้ แต่

อย่างไรก็ดี วิลมุตเน้นย้ำว่าไอพีเอสเซลล์ที่ได้จากเทคนิคใหม่นี้จะต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบความปลอดภัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะมีการนำไปทดลองในมนุษย์
สเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่เพาะเลี้ยงอยู่ในห้องแล็บ (เอเอฟพี)
ศ.ชินยะ ยามานากะ (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น