xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิม ปธน.ใหม่ มะกันได้ทดสอบใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนรักษาผู้ป่วยครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายเมื่อเดือน ก.ค. 2544 ของ ดร.โธมัส โอคาร์มา ผู้บริหารบริษัทเจรอน ซึ่งกำลังจะนำพาเจรอนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านสเต็มเซลล์ด้วยการบุกเบิกการทดลองรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนในเร็วๆนี้ (เอพี)
บริษัทวิจัยไบโอเทคของมะกัน ประกาศเตรียมทดลองใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนรักษาผู้ป่วยเป็นรายแรกในสหรัฐฯ หลังเปลี่ยนผู้นำ และได้รับอนุญาตจากเอฟดีเอเรียบร้อยแล้ว โดยจะทดลองในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่าง หวังเปิดทางให้สหรัฐฯ ก้าวเป็นผู้นำด้านสเต็มเซลล์ในอนาคต

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ผู้นำคนใหม่ เป็นนายบารัค โอบามา เพียงไม่นาน นักวิจัยในวงการสเต็มเซลล์ของสหรัฐฯ ก็เริ่มหน้าบาน เมื่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (US Food and Drug Administration: FDA) อนุญาตให้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนได้แล้ว โดยบริษัทเจรอน (Geron Corp.) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย นำร่องเป็นรายแรกของสหรัฐฯ และของโลก ซึ่งเอพีระบุว่า เขาจะทดลองใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังจนเป็นอัมพาตครึ่งล่าง

ดร.โธมัส โอคาร์มา (Dr. Thomas Okarma) ประธานและซีอีโอของเจรอน เปิดเผยในเอพีว่าเจรอนได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ม.ค. สำหรับการทดลองระดับคลินิก ในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนกับผู้ป่วยจำนวน 10 ราย ที่เป็นอัมพาตครึ่งตัวท่อนล่างจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โดยจะทดลองฉีดสเต็มเซลล์ให้ผู้ป่วยภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ และศึกษาว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมีความปลอดภัยหรือไม่ และให้ผลดีมากน้อยแค่ไหน จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีความรู้สึกหรือเดินได้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่ทดสอบได้ผลแล้วในหนูทดลอง

การทดลองของบริษัทเจรอน จะดำเนินในสถานพยาบาลราว 7 แห่งทั่วประเทศ โดยจะทดลองฉีดสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเข้าไปบริเวณไขสันหลังที่ถูกทำลาย และให้ยาต้านการปฏิเสธของร่างกายในปริมาณต่ำ ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน และติดตามผลต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งจากการทดลองในสัตว์ก่อนหน้านั้นพบว่าเมื่อฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปครั้งแรก สเต็มเซลล์จะค่อยๆ เจริญเติบโตและเข้าซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายไปบริเวณรอบๆ เส้นประสาทที่ได้รับความเสียหาย และให้สารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ประสาท

"ไม่ได้มีแนวคิดจนถึงขนาดทำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมาเต้นได้ แต่หวังว่าจะทำให้ความสามารถทางกายของผู้ป่วยกลับมาได้บ้างเมื่อได้รับการรักษาด้วยกายภาพบำบัดร่วมด้วย" โอคาร์มา กล่าว

อย่างไรก็ดี โอคาร์มายังบอกไม่ได้ว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนจะมีค่าใช้จ่ายสักเท่าไหร่หากการทดลองประสบผลสำเร็จ แต่เชื่อว่าไม่น่าจะถึง 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ซึ่งควรจะต้องอยู่ในระดับที่ผู้ป่วยสามารถจ่ายได้ในราคาสมเหตุสมผล

การทดลองดังกล่าวของบริษัทเจรอน จะกลายเป็นบันทึกบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนในสหรัฐฯ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในระดับวงการวิจัยไปจนถึงการเมืองระดับประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในสมัยที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธานธิบดี ก็ได้ปฏิเสธการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน และไม่อนุญาตให้ทำลายตัวอ่อนเพื่อนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมาใช้ในงานวิจัย แต่ยกเว้นให้สำหรับสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนมาก่อนวันที่ 9 ส.ค. 2544 ตามที่ระบุในเอเอฟพี

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเป็นสเต็มเซลล์ที่มีศักยภาพมากที่สุด ในการพัฒนาไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้ทั้งนักวิจัยและผู้ป่วยต่างก็มีความหวังว่าสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนอาจเป็นยาวิเศษที่จะช่วยรักษาโรคหลายชนิดที่ยังไม่มีทางรักษาได้ในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สามารถศึกษาวิจัยได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมาใช้ เสมือนเป็นการทำลายตัวอ่อนไปในตัว ซึ่งยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในด้านจริยธรรมของนานาประเทส

ในเอเอฟพีระบุด้วยว่าสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่บริษัทเจรอนจะนำมาใช้ในการทดลอง เป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อนจากเซลล์ไลน์เอช 1 (H1 human embryonic stem cell line) ที่ได้จากตัวอ่อนตั้งแต่ก่อนที่บุชจะห้ามนักวิจัยเก็บเกี่ยวสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนใหม่ และการอนุญาตของเอฟดีเอในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของโอบามา

ทั้งนี้ โอบามาเคยกล่าวไว้ก่อนหน้าที่จะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่าเขาหวังว่าที่ประชุมรัฐสภาจะนำประเด็นการห้ามทำวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของรัฐบาลที่แล้วมาพิจารณาและออกกฎหมายใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม

ดร.ไวส์ ยัง (Dr. Wise Young) นักวิจัยด้านไขสันหลัง จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) มลรัฐนิวเจอร์ซี กล่าวถึงการทดลองของบริษัทเจรอนว่า ความหวังอันท่วมท้นของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังกำลังดำเนินไปพร้อมกับการทดลองในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องทุกทรมานจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง หนึ่งในนั้นคือคริสโตเฟอร์ รีฟ (Christopher Reeve) ผู้เคยรับบทเป็นซูเปอร์แมนในภาพยนตร์เรื่องซูเปอร์แมน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2548

ด้านอีวาน ชไนเดอร์ (Evan Snyder) นักวิจัยสเต็มเซลล์จากสถาบันวิจัยการแพทย์เบิร์นแฮม (Burnham Institute for Medical Research ) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านสเต็มเซลล์จำนวนมากกำลังจับตาดูผลการทดลองในครั้งนี้อยู่ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย ซึ่งก็หวังกันเอาไว้ว่าจะไม่มีอะไรเลวร้ายลงไปกว่านี้อีก

ทั้งนี้ บริษัทเจรอนก่อตั้งขึ้นในปี 2535 และทุ่มงบให้กับการวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์มาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) รวมทั้งสนับสนุนทุนวิจัยในด้านเดียวกันให้กับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) ซึ่งแยกสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2541 จึงทำให้เจรอนถูกจับตามองในฐานะผู้นำโลกด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน
สเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่เพาะเลี้ยงอยู่ในห้องแล็บ (เอเอฟพี)
เนื้อเยื่อของคนเราที่สร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น