ทีมนักวิทย์สหรัฐฯ สร้างนวัตกรรมใหม่ ใช้เทคนิคเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังเป็นสเต็มเซลล์ตัวอ่อน แล้วจัดการกระตุ้นให้เป็นเซลล์ที่ผลิตอินซูลินได้ หวังใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวาน ที่ร่างกายบกพร่องสร้างอินซูลินช่วยย่อยน้ำตาลในเลือดไม่ได้
สถาบันสเต็มเซลล์ฮาร์วาร์ด (Harvard Stem Cell Institute: HSCI) สหรัฐฯ รายงานความสำเร็จครั้งแรก ในการสร้างประชากรเซลล์ใหม่ที่สามารถผลิตอินซูลินได้ จากการใช้เซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งเทคนิคใหม่ ในการสร้างสเต็มเซลล์โดยไม่ต้องใช้ตัวอ่อนมนุษย์ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่การนำไปใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยเบาหวานในอนาคต
ไทม์ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences: PNAS) โดยดักลาส เมลตัน (Douglas Melton) ผู้อำนวยการร่วม สถาบันสเต็มเซลล์ฮาวาร์ด และทีมวิจัย ซึ่งได้ทดลองนำเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มาใส่ยีน 3 ชนิดเข้าไป เพื่อเปลี่ยนให้เซลล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมือนสเต็มเซลล์ในระยะตัวอ่อน (pluripotent stem cells) ซึ่งเป็นวิธีการที่ศาสตราจารย์ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka ) นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน
จากนั้นทีมวิจัยของเมลตัน ได้ชักนำเสต็มเซลล์ตัวอ่อนเหล่านั้นให้เจริญไปเป็นเบตาเซลล์ (beta cells) ซึ่งเป็นเซลล์ในตับอ่อน ที่มีหน้าที่หลั่งอินซูลินเพื่อช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด โดยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น เบตาเซลล์จะไม่ทำงาน ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลที่มีปริมาณมาก ภายหลังการบริโภคอาหารในแต่ละมื้อได้ ทำให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดสูงผิดปกติ และอาจเป็นอันตรายต่อการทำงานของไตและหัวใจได้
เมื่อได้เบตาเซลล์ที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังแล้ว นักวิจัยนำไปทดสอบประสิทธิภาพการย่อยน้ำตาลในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ พบว่าเมื่อระดับน้ำตาลสูงขึ้น เซลล์เหล่านี้ก็จะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่เบตาเซลล์ปกติจะสร้างและหลั่งออกมาเมื่อต้องการย่อยน้ำตาล และเมื่อระดับน้ำตาลลดต่ำลง โปรตีนดังกล่าวก็ค่อยๆ สลายไปได้ด้วยเช่นกัน
"เซลล์พวกนี้เป็นตัวแทนของแม่แบบใหม่ล่าสุดของการศึกษาโรคเบาหวานในมนุษย์ ซึ่งเรามีแม่แบบที่ดีในการศึกษาเบาหวานชนิดที่ 1 มากมายในหนูทดลอง แต่ทุกสิ่งที่เราเรียนรู้มาแทบทั้งหมดมักล้มเหลวในระดับคลินิก ทว่าตอนนี้เรามีโอกาสแล้วที่จะทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าคนเราเป็นเบาหวานได้อย่างไร" เมลตัน ระบุ
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังกำลังสร้างไทมัสเซลล์ (thymus cells) ด้วยวิธีการเดียวกับการสร้างเบตาเซลล์ดังกล่าว เพื่อที่จะนำเซลล์ทั้งสองชนิดมาศึกษากลไกการเกิดเบาหวานร่วมกัน
ทั้งนี้ นักวิจัยด้านโรคเบาหวานเชื่อว่าเบาหวานเป็นความผิดปกติที่เกิดจากภูมิคุ้มกันอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากความผิดปกติของต่อมไทมัส (thymus gland) ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ตัวเอง ซึ่งในที่นี้คือเบตาเซลล์ในตับอ่อน อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยต้องการศึกษาต่อไปว่าเบาหวานมีจุดเริ่มต้นจากต่อมไทมัสหรือตับอ่อนกันแน่
นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ผลงานวิจัยครั้งนี้อาจทำให้พวกเขาเห็นภาพของเบาหวานชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น และหากสามารถสร้างเบตาเซลล์ขึ้นมาได้จากเซลล์ผิวหนัง ตลอดจนทำให้มันรอดพ้นจากการถูกทำลายของระบบภูมิคุ้มกันได้ ก็อาจนำมันกลับเข้าไป ในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นทางเข้าของเซลล์ผิวหนังตั้งต้นได้เพื่อรักษาโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ดี จะต้องอาศัยการศึกษาวิจัยให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และต้องแน่ใจว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจริงจึงจะสามารถนำวิธีนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานในทางปฏิบัติได้จริงในอนาคต.