เตรียมคลอดข้อบังคับแพทยสภาการคุมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดรักษาในคน คาดบังคับใช้ได้ภายใน ส.ค.ปีนี้ หวังคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมมาตรฐานการรักษา เข้มทำวิจัยสเต็มเซลล์ต้องขออนุญาตคณะกรรมการกลาง แพทย์-นักวิจัย ต้องขึ้นทะเบียนภายใน 60 วันหลังมีผลบังคับใช้กฎหมาย
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เวชกรรม พ.ศ...ว่าด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ตนกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปนำเข้าที่ประชุมใหญ่แพทยสภาเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลา 3 เดือนโดยข้อบังคับดังกล่าวเพื่อควบคุมการรักษาและการวิจัยให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ไม่รวมการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โรคที่เกี่ยวกับเลือด ไขกระดูก ที่ได้รับการยอมรับและมีกฎหมายควบคุมกำกับอยู่แล้ว เช่น โรคธาลัสซีเมีย แต่การรักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากนี้ต้องขออนุญาต
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ร่างข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการวิชาการและจริยธรรมด้านการวิจัยในคนของเซลล์ต้นกำเนิดของแพทยสภา ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการกลางระดับชาติ โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์จากทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน นักกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาชน ฯลฯ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบวิธีการปฏิบัติเพื่อรองรับการบังคับใช้ข้อบังคับดังกล่าว รวมถึงระเบียบวิธีการขึ้นทะเบียนแพทย์ นักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับสเต็มเซลล์
“ในการวิจัยสเต็มเซลล์นอกจากจะต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในโรงพยาบาลที่เป็นต้นสังกัดแล้ว จะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดนี้ด้วย โดยจะมีการเปิดเผยรายชื่อของคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน3เดือน ดองไม่ได้ เพราะขณะนี้ต้องแข่งกับทั่วโลก หากช้าจะทำให้เสียเปรียบ”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ข้อบังคับฉบับดังกล่าว ให้มีผู้ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์หรือผู้ที่ใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคขึ้นทะเบียน ภายใน 60 วัน หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่ใครจะทำก็ได้เป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นใดที่ไม่มีความสามารถ ไม่ผ่านการศึกษาอบรมปฏิบัติแอบอ้างนำวิธีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ไปใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชนได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีคลินิกเอกชนหลายแห่งให้บริการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาและเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูง แต่ไม่สามารถดำเนินเอาผิดได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลการใช้สเต็มเซลล์เพียงนำเรื่องเข้าคณะกรรมจริยธรรมหากมีผู้ร้องเรียน ซึ่งมีโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่ พ.ร.บ.ยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ เพราะกฎหมายมีช่องโหว่ หากเป็นการผลิตยาที่รักษาเฉพาะรายไม่จำเป็นต้องผ่านอย.
“ความมุ่งหมายของข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ได้ห้าม หรือขัดขวางการวิจัย การวิจัยหรือผลการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่วงการแพทย์ยอมรับแล้ว ก็เห็นชอบให้ใช้ในการรักษาพยาบาลได้ แต่หากมีการใช้สเต็มเซลล์ไปรักษาก่อนที่จะมีผลพิสูจน์ชัดเจนทางการแพทย์ ถือว่าผิดจรรยาบรรณอยู่แล้ว เพราะหากแพทย์พบข้อค้นพบในการรักษาใหม่ๆ จะต้องนำเข้าที่ประชุมวิชาการและมีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยจะต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบที่ชัดเจน เช่น มีการทำวิจัยในคนกี่ราย ผลเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่รายเดียวแล้วถือว่าสำเร็จใช้ได้แล้ว ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยอมรับการนำสเต็มเซลล์รักษาโรคทางเลือดเท่านั้น ส่วนโรคหัวใจ โรคทางสมอง ถือว่ายังอยู่ในระหว่างการวิจัยซึ่งในอนาคตอาจจะใช้ได้จริงก็ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทราบมาว่า มีแพทย์ไทยที่เตรียมจะนำผลการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ เกี่ยวกับโรคด้านหัวใจและสมองที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เพื่อให้คณะกรรมการฯพิจารณาแล้ว”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากข้อบังคับฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกหลอก ต้องเสียค่ารักษาแพงๆ ซึ่งประเทศไทยถูกโจมตีอย่างมากในการประชุมแพทย์นานาชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งมีการโฆษณาอวดอ้างสามารถรักษาโรคต่างๆ ด้วยวิธีการใช้สเต็มเซลล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักเกณฑ์ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ ส่วนสาเหตุที่ข้อบังคับนี้ออกมาช้ามากเป็นเพราะมีหลายฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วย แต่หลังจากที่มีการประชุมหารือหลายรอบขณะนี้มีความเข้าใจตรงกันแล้ว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับฉบับนี้ ไม่คลอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่มาจากสเต็มเซลล์ เนื่องจากอย.ควบคุมด้านผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว คือ หากเป็นสเต็มเซลล์ที่ได้จากสัตว์ เช่น รกวัว รกแกะหากผ่านอย.ก็สามารถนำเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ แต่สเต็มเซลล์ที่มาจากมนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่หากนำสเต็มเซลล์ฉีดในคนแพทยสภาจึงจะสามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้ รวมถึงไม่คลอบคลุมธุรกิจเก็บสเต็มเซลล์ ซึ่งมีราคาแพง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อีกทั้งไม่มีความจำเป็นที่ต้องเก็บสเต็มเซลล์เพื่อการรักษา เพราะเมื่อถึงเวลาไม่สามารถใช้ได้ และปัจจุบันมีวิธีการนำเซลล์ไขกระดูกของญาติพี่น้องมาใช้ได้โดยการฉีดยากระตุ้น โดยไม่ต้องดึงมาเก็บล่วงหน้า ทั้งนี้ วิธีการแก้ปัญหาจะต้องรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน