xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเร่งหาข้อสรุป “สเตมเซลล์” รักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทยสภารับฟังความคิดเห็นกฎหมายสเต็มเซลล์ก่อนออกข้อบังคับคุมงานวิจัย ชี้เปิดช่องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ทำสเต็มเซลล์ให้ผู้ป่วยเท่านั้น ส่วนงานวิจัยที่สมบูรณ์แล้วต้องส่งให้แพทยสภาพิจารณาหลังกฎหมายบังคับใช้ ส่วนงานวิจัยที่อยู่ระหว่างทดลองต้องส่งโครงการวิจัยให้คณะกรรมการ 2 ชุดใหญ่อนุมัติก่อน ทั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติพิจารณาด้านวิชาการ และคณะกรรมการวิจัยในคนของสธ. จะพิจารณาด้านจริยธรรม พร้อมนำเข้าที่ประชุมใหญ่แพทยสภา ส.ค.นี้ คาดมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้แน่นอน ช่วยให้งานวิจัยไทยมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ไม่มีโครงการหลอกลวงประชาชน
น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
วันที่ 29 ก.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในการบำบัดรักษาโรคนอกเหนือจากการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา พ.ศ. ... นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาโรคด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทย มีระบบการตรวจสอบจริยธรรมจากสถาบันของผู้ทำวิจัยเท่านั้น เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน แต่ยังไม่มีการตรวจสอบมาตรฐานจากคณะกรรมการกลางระดับชาติ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซลล์ต้นกำเนิด และเป็นหน่วยงานกลาง รับรองว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น แพทยสภาอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 (3) (ช) และความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เพื่อออกข้อบังคับ เกี่ยวกับ“การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด(Stem cells) ในคน” หรือ “เซลล์ที่เจริญมาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำนิด(Progenitor cell)"

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อบังคับดังกล่าวจะใช้ตรวจสอบใน 3 เรื่องเป็นหลัก คือ 1.การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่มีการทดลองหรือการวิจัยมาแล้ว จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานและแพทยสภาเห็นชอบ โดยในกรณีที่แพทย์ที่ให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดก่อนที่แพทยสภาจะออกข้อบังคับ ให้ส่งหลักฐานว่าการรักษาเป็นวิธีมาตรฐานมายังแพทยสภาพิจารณาเห็นชอบภายใน 60 วัน หลังข้อบังคับประกาศใช้ 2.ในกรณีที่เป็นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคนที่ยังอยู่ในระหว่างการทดลอง หรือการทำวิจัยนั้น โครงการวิจัยดังกล่าวจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการทำวิจัยในคนของสถาบันที่ผู้ทำวิจัยสังกัด ที่สำคัญจะต้องผ่านการรับรองด้านวิชาการจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการฯ และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนของ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะพิจารณาด้านจริยธรรม แต่หากเป็นโครงการวิจัยที่ได้เริ่มโครงการไปก่อนที่ข้อบังคับฉบับนี้บังคับใช้ ขอให้ส่งโครงร่างการวิจัย คู่มือผู้วิจัย เอกสารรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการทำวิจัยในคนของสถาบันที่ผู้ทำวิจัยสังกัด รวมทั้งรายงานความปลอดภัยและรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ให้ส่งรายละเอียดทั้งหมดมายังแพทยสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบภายใน 60 วัน นับแต่ข้อบังคับฉบับนี้ประกาศใช้และ 3.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดต้องมีคุณสมบัติ คือ ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติในอนุสาขาหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคข้องผู้ป่วย และต้องได้รับการเห็นชอบจากแพทยสภา โดยมีผลภายใน 30 วัน นับแต่ข้อบังคับมีผลบังคับใช้ โดยในอนาคตผู้ที่ทำการปลุกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้กับผู้ป่วยจะต้องเป็นแพทย์เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนการทำวิจัยต่างๆ ยังคงเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ก็ได้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป แพทยสภา จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเห็นชอบ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งข้อบังคับดังกล่าว จะช่วยให้การวิจัย และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ของประเทศไทยมีมาตรฐานมากขึ้น ไม่มีโครงการวิจัยที่หลอกลวงประชาชน เพราะปัจจุบันการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ได้ผลรับรองมีเพียงเฉพาะโรคหลอดเลือดเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆ อาทิ โรคด้านสมอง หัวใจ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ได้ผล 100% แต่ปัจจุบันกลับมีโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากทำโฆษณาชวนเชื่อจำนวนมาก และมีผู้ป่วยหลงเชื่อยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อรักษาด้วยวิธีใช้สเต็มเซลล์

“เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการประชุมนักวิชาการ แพทย์ด้านสเต็มเซลล์ระดับโลก มีนักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งได้พูดโจมตีประเทศไทยในเวทีการประชุมนักวิชาการระดับโลก ว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ของไทยไม่มีมาตรฐาน และมีวารสาร SCIENCE ที่ตีพิมพ์ทั่วโลกด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อไทยอย่างมาก โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือทางการแพทย์เพราะไทยมีการส่งเสริมเรื่องเมดิเคิลฮับ รับผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาโรคจำนวนมาก แต่ชื่อว่าหลังจากข้อบังคับดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะทำให้นานาชาติรับรู้ว่าไทยมีมาตรฐานในการทำวิจัยแล้ว” นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การจัดงานแถลงข่าวเปิดเผยผลสำเร็จการวิจัยใหม่ๆ ของแพทย์ และโรงพยาบาลต่างๆ ก็ถือว่าผิดจริยธรรม เพราะเป็นการให้ข้อมูลโดยตรงต่อประชาชน ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้อาจหลงเชื่อได้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วการเปิดเผยข้อมูลใหม่ๆ ให้สังคมยอมรับจะต้องนำเรื่องผ่านการประชุมวิชาการทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้รับรู้และสังเคราะห์ข้อมูลก่อน หากได้รับการยอมรับจะได้รับตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาแพทยสภา ได้เรียกแพทย์ โรงพยาบาลที่ทำผิดทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวมาตำหนิ และตักเตือนไปหลายรายส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น