xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภายันหมอปฏิเสธไม่รักษา ตร.ได้ ไม่ผิดจริยธรรมเหตุมิใช่กรณีฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกแพทยสภา ระบุ ไม่สั่งตั้งกรรมการสอบแพทย์ปฏิเสธรักษาตำรวจ ย้ำ หากไม่ใช่ในกรณีฉุกเฉินไม่ผิดจริยธรรม เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นอารยะขัดขืน มั่นใจแพทย์ทุกคนรู้สามารถดำเนินการได้แค่ไหน ด้าน “เหลิม” เชื่อแพทย์ทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

วันนี้ (9 ต.ค.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีแพทย์จำนวนหนึ่งออกมาปฏิเสธที่จะรักษาตำรวจ เพราะต้องการต่อต้านที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า แพทยสภาคงจะไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรมทางการแพทย์ของกลุ่มแพทย์ที่ปฏิเสธการรักษาตำรวจ หากไม่ได้ปฏิเสธการรักษาในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นสิทธิของแพทย์จะสามารถดำเนินการได้ไม่ถือว่าผิดหลักจริยธรรม แต่ต้องเป็นกรณีไม่ฉุกเฉินเท่านั้น หากปฏิเสธในกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถจะเลือกปฏิบัติได้

นายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า การดำเนินการลักษณะดังกล่าวของกลุ่มแพทย์เป็นไปตามสิทธิในเรื่องเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ ในมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพ จึงเท่ากับว่า หากแพทย์ไม่สะดวกที่จะตรวจรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ป่วยฉุกเฉินจึงสามารถปฏิเสธคนไข้ได้ ถือว่าเป็นการกระทำแบบอารยะขัดขืน

“การประท้วงไม่รักษาตำรวจของแพทย์จะลุกลามไปในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือไม่ เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าแพทย์ทุกคนรู้ว่า ตัวเองสามารถทำได้แค่ไหนที่จะไม่ผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ และที่ผ่านมา กลุ่ม องค์กรต่างๆทางการแพทย์ได้ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงมาก่อนหน้านี้จำนวนมาก แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรงขึ้นซ้ำอีก เป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาจเป็นการแสดงความเห็นด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ตนเองเชื่อว่านายแพทย์ต้องมีจรรยาบรรณทางการแพทย์ ที่จะทำการรักษาโดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ตนไม่คัดค้านการแสดงความคิดเห็นของแพทย์ เพราะแพทย์มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้


เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 ตุลาคม นพ.สมศักดิ์ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันประสบวิกฤตการณ์จากความเห็นขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนและภาครัฐนั้น เป็นเหตุให้มีการดำเนินการหลายประการทางการเมือง เช่น การชุมนุม การใช้อำนาจรัฐ แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรกลางของแพทย์ 38,000 คนในประเทศไทย ขอแถลงว่า
1.แพทยสภาขอคัดค้านการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ความขัดแย้งทุกรูปแบบ จากทุกหมู่เหล่า อันจะนำไปสู่ความสูญเสียอวัยวะ ร่างกายและชีวิต ของพี่น้องประชาชนชาวไทยกันเอง

2.แพทยสภาขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับความสูญเสียทุกรูปแบบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอให้ทั้งผู้บริหารรัฐบาลและกลุ่มความเห็นที่แตกต่าง เห็นแก่ประเทศชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์ หันหน้าปรึกษากันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขของบ้านเมืองโดยเร็ว บนประโยชน์แท้จริงต่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติ

3.แพทยสภาขอให้แพทย์ทุกท่านยึดมั่นในจริยธรรม ว่า ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม ต้องไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือ ผู้ที่อยู่ในระยะอันตรายจากการเจ็บป่วย รวมทั้งไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นวรรณะ ความคิดทางการเมือง ตามหลักมนุษยสากล ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และเพื่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ของพี่น้องชาวไทยในสภาวะวิกฤตนี้

4.แพทยสภาไม่สนับสนุนให้มีการนำ “วิชาชีพเวชกรรมของแพทย์” ไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

5.แพทยสภาขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ บรรเทาความเจ็บป่วยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่ปกติในสภาวะดังกล่าว ด้วยความเหนื่อยยากและเสียสละ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีแพทย์ รพ.จุฬาฯบางคนออกมาระบุว่าจะไม่รักษาคนไข้นั้น ขณะนี้ได้มีผู้ร้องเรียนมายังแพทยสภาว่า เข้าข่ายการกระทำผิดจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่ ซึ่งแพทยสภาได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจริยธรรมแพทย์คนดังกล่าวต่อไป โดยส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณา ทั้งนี้จะนำคำให้สัมภาษณ์ของแพทย์คนดังกล่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยการพิจารณาทางจิรยธรรมนั้นจะมีตั้งแต่ ตันเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่าในส่วนของ ทาง รพ.ต้นสังกัดแพทย์คนดังกล่าวได้มีการดำเนินการทางวินัยหรือไม่อย่างไร

"เมื่อได้รับการร้องเรียนแม้ว่าจะยังไม่มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากการประกาศของแพทย์กลุ่มนี้แต่ก็ต้องรับเรื่องไว้พิจารณาตามระเบียบข้อบังคับ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเจตนาของแพทย์เป็นเพียงการขมขู่รัฐบาลเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และยืนยันว่า หากผู้ป่วยไม่ได้รับบากเจ็บฉุกเฉินแพทย์ก็สามารถปฏิเสธการรักษาได้ เนื่องจากหากแพทย์ไม่สบายใจหรือมีอคติกับผู้ป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงในการรักษาแต่ต้องแนะนำการส่งต่อผู้ป่วย เพราะการมีอคติ ในการรักษาผู้ป่วยอาจเกิดข้อสงสัยวในการรักษาว่า รักษาดีหรือไม่ มีการกลั่นแกล้งหรือไม่ เป็นต้น"นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า แถลงการณ์ของแพทยสภาฉบับนี้ต้องการสื่อไปยังแพทย์ทั่วประเทศ หลักสำคัญคือแพทย์ทุกคนจะต้องรักษาผู้ป่วย ในกรณีเร่งด่วนจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ สำหรับกรณีไม่เร่งด่วน นั้นแพทย์มีสิทธิปฏิเสธได้ แต่ต้องแนะนำในการส่งต่อตามความเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น