xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ-สถาบันจิตเวชศาสตร์เจ้าพระยาไม่รับรักษา “ตำรวจ” แต่งเครื่องแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอจุฬาฯ เผย มาตรการขึ้นป้ายงดรักษาตำรวจ ระบุเป็นการกระทำส่วนตัว เผย มีหมอเอาด้วยกว่า 10 คน ชี้ ต้องการประณามการกระทำของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน พร้อมเรียกร้อง 8 ร.ร.แพทย์เอาด้วย พรุ่งนี้พร้อมแถลงข่าวสาเหตุที่ทำให้ ปชช.บาดเจ็บ แขน-ขาขาด พร้อมชวนแพทย์ นักวิชาการ แต่งขาว ดำ เดินขบวนไปหน้า สตช.ด้านคณะจิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์เจ้าพระยา มีมติไม่รับรักษา “ตำรวจ” ด้วย รับไม่ได้ที่ทำร้ายประชาชน

วันนี้ (8 ต.ค.) รศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ แพทย์โรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มแพทย์ พยาบาล และแพทย์ประจำบ้านของโรงเรียนแพทย์ 8 สถาบัน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาสงขลานครินทร์ ออกแถลงการณ์ประณามตำรวจ และผู้สั่งการที่สลายการชุมนุม อย่างไร้มนุษยธรรม ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ล่าสุด วันนี้ (8 ต.ค.) แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ส่วนหนึ่ง ได้ติดป้ายงดตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการทางสังคมที่ทำเพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่าแพทย์และพยาบาลไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่รุนแรงเกิดเหตุของผู้บริหารประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นเฉพาะปัจเจกบุคคล โดยการนำป้ายมาติดหน้าห้องตรวจไม่ใช่ว่าปฏิเสธการรักษา แต่ก็มีข้อแม้อยู่ว่า หากผู้ป่วยเป็นตำรวจจะมารักษานั้น ต้องไม่ทำบันทึกประวัติโดยใส่ยศ ตำแหน่ง หรือไม่แต่งเครื่องแบบตำรวจเข้ามารักษา ก็จะทำการตรวจรักษาให้ตามปกติ ซึ่งตอนนี้แพทย์ภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ดำเนินการรูปแบบเดียวกันกว่า 10 คน ซึ่งก็ยังได้ขยายแนวร่วมออกไปโดยส่งแถลงการณ์ไปทางอีเมล์ ยังโรงเรียนแพทย์ทั้ง 8 สถาบัน เพื่อกระทำการร่วมกัน

“ความจริงแล้วทางกลุ่มแพทย์ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจไปแล้วในช่วงบ่ายวานนี้ (7 ต.ค.) แต่หลังจากนั้น ได้ไม่นานตอนช่วงเย็นเหตุการณ์ก็ทวีความรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตำรวจไม่ได้ให้ความสนใจในแถลงการณ์ของเราที่ออกไปเลยแม้แต่น้อย และการกระทำของเราในครั้งนี้ก็อยากจะให้ตำรวจ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงรับรู้ถึงความรู้สึกไม่สบายใจของพวกเราที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” รศ.นพ.สุเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกระทำดังกล่าวจะผิดต่อจริยธรรมของแพทย์หรือไม่ รศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า มาตรการนี้นำมาใช้กับผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งหากเขาไม่ต้องการตรวจกับเราก็ยังมีแพทย์อีกหลายคนที่สามารถตรวจให้ได้ แต่สำหรับคนไข้ฉุกเฉินก็เป็นข้อยกเว้นและยังไม่ทราบเหมือนกันว่า หากทั้ง ส.ส. หรือคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้ เกิดเจ็บป่วยรุนแรงเข้ามารับการรักษา เราในฐานะแพทย์ที่ทำการรักษาจะได้บุญ หรือเป็นบาปกันแน่ ถึงอย่างไรตามจรรยาบรรณและจิตสำนึกของแพทย์ก็ต้องช่วยอยู่แล้ว คนไข้เองก็อยากให้คำนึงถึงความรู้สึกของแพทย์ด้วยเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกินจะให้อภัยที่เป็นเหตุให้ประชาชนทั้งเสียชีวิต และบาดเจ็บหลายร้อยคน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มาตรการนี้จะเกิดผลกระทบกับหน่วยงานหรือไม่ รศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเป็นการกระทำเฉพาะบุคคลและเมื่อหมดเวลาตรวจก็จะเอาป้ายออก

นพ.สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ เวลา 08.30 น. ที่ตึกสิรินธร ชั้นล่าง คณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ จะแถลงข่าวกรณีที่มีประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการขาขาด แขนขาด เรื่อง “ความเห็นแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุการบาดเจ็บ และการสูญเสียอวัยวะของประชาชนที่ร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภา” จากนั้นในเวลา 09.00 น.จะมีการเดินขบวนเพื่อคัดค้านการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ในนามบุคลากรการแพทย์ และนักวิชาการ โดยไม่มีการระบุสถาบัน พร้อมรวมพลที่ตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยจะเคลื่อนขบวนผ่านเส้นทางจุฬาฯ สยามพารากอน ไปยังสำนักตำรวจแห่งชาติ และกรุณาแต่งกายด้วยชุดขาว-ดำ เท่านั้น

รองผอ.รพ.จุฬาฯ ย้ำเป็นการกระทำส่วนบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(8 ต.ค.) เมื่อเวลา 15.45 ที่ศาลาทิณทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ ฝ่ายบริหาร ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล เปิดแถลงข่าวด่วน จากกรณีที่มีกระแสข่าวจากสื่อมวลชนบางแห่ง และเว็บบางเว็บ ที่มีการกระจายข่าวออกไปว่า รพ.จุฬาฯ จะไม่รับรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บจากการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม พธม.เมื่อวานนี้ ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นองค์กรการกุศลและเป็นหน่วยหนึ่งในสภากาชาดไทย ที่มีนโยบายอย่างชัดเจนหนักแน่นในความเป็นกลาง ไม่มีนโยบาย ปฏิเสธการรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ตามที่เป็นข่าว แต่ที่เป็นข่าวนั้นเกิดขึ้นจากทัศนคติส่วนตัวนายแพทย์ และอาจารย์แพทย์บางท่านภายในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่มีสิทธิจะคิดได้ และทางโรงพยาบาลจะไม่ก้าวล่วง สิทธิส่วนบุคคลนี้

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีการเข้า พูดคุยกับแพทย์ที่มีทัศนคติดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจแบบพี่น้อง และยืนยันว่าจะไม่กดดันบุคคลเหล่านี้ เพราะยืนยันว่าในโรงพยาบาลจุฬาฯไม่มีความแตกแยก

"สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นทัศนคติส่วนบุคคลของอาจารย์หมอแต่ละท่าน ซึ่งเชื่อว่าพูดขณะเหตุการณ์ตึงเครียด หลังปัญญาชนได้รับความเสียหาย จึงอาจทำให้ท่านพูดออกมาเช่นนั้น แต่ผมยังเชื่ออย่างเต็มที่ ว่าทุกท่านเมื่อเกิดเหตุจริงๆ จะไม่มีท่านใด ปฏิเสธคนไข้ของตนเองอย่างแน่นอน"

รศ.นพ.ธีระพงศ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับนโยบายของทางโรงพยาบาล และยืนยันหนักแน่นว่า เราจะรับรักษาคนไข้ทุกคนไม่ว่า เชื้อชาติใด อาชีพไหน และเป็นฝ่ายใด อย่างเต็มที่ทุกคนให้ดีที่สุด แพทย์ของโรงพยาบาลมีกว่า 400 คน ซึ่งเพียงพอกับการรักษาประชาชนไม่ว่าฝ่ายใดอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน้าห้องตรวจของแพทย์บางคน จะมีการติดป้ายไม่รักษาตำรวจ รศ.นพ.ธีระพงศ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่เป็นเรื่องที่ผิดแต่หากติดป้ายหน้าห้องตรวจทั่วไป ตนยังไม่เห็น จึงยังให้สัมภาษณ์อะไรไม่ได้

แถลงการณ์นักวิชาการ แพทย์ 10 สถาบัน

วันนี้(8 ต.ค.) ที่อาคารสิริธร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้มีการประชุมของนักวิชาการและอาจารย์แพทย์ 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้ประชุมหารือกรณีเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การสั่งการของรัฐบาลให้ปราบปรามประชาชนด้วยควาามรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเบื้องต้นที่ประชุม ได้มีข้อสรุปเป็นแถลงการณ์ขอประนามความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำต่อประชาชน โดยแถลงการณ์ร่วมของนักวิชาการจาก 10 สถาบัน ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การชุมนุมของมวลชนอย่างสงบ อยู่บริเวณหน้ารัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีความคิดแตกต่างจากรัฐบาล ต่อมารัฐบาลได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง เกิดการทำร้ายประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร จึงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บทุพลภาพและเสียชีวิต

พวกเราซึ่งเป็นนักวิชาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงขอเรียกร้อง ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง โดยไม่มีเหตุอันควรออกแถลงการณ์ขอโทษต่อประชาชนในการกระทำดังกล่าว

2.เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง และหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จึงขอให้รัฐบาลยุติการบริหารประเทศโดยทันที

3.ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ดังกล่าว และดำเนินคดีต่อผู้รับผิดชอบสั่งการ และเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

4.ขอให้เรียกร้องให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา พิจารณาถอดถอนปริญญาบัตรผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบข้างต้น

5.ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วมโดยเร็ว

6.ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เห็นด้วย กับแนวทางที่เสนอ เริ่มแต่งชุดดำจนกว่ารัฐบาลจะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

7.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน นำเสนอความจริงโดยรอบด้าน

สถาบันจิตเวชศาสตร์เจ้าพระยาไม่รักษา ตร.ด้วย
นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ เปิดเผยว่า คณะจิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์เจ้าพระยาได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายประชาชนที่มาชุมนุมกันที่บริเวณหน้ารัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่ารัฐบาลกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ เป็นการฆ่าประชาชนที่ไปชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เพียงเพื่อต้องการแค่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จนทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญคือ การกระทำของรัฐบาลถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่น่าให้อภัย

ดังนั้น ทางคณะแพทย์จึงมีมติร่วมกันว่า จะมีการขึ้นป้ายที่ “ห้องตรวจ” ว่าไม่ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากตำรวจแทนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ทรราช อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ผิดจรรยาบรรณแพทย์ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการเข้ารับการรักษาจะต้องไม่แต่งเครื่องแบบมา ให้มาในฐานะประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น ซึ่งแพทย์ก็จะรับการตรวจรักษาตามปกติตามหน้าที่

นอกจากนี้ จะมีการทำป้ายไปติดไว้ที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาจะเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทรราชลาออกอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น