xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ ชี้เหตุ 7 ตุลาทมิฬ ถือเป็นภัยรุนแรงกว่าภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ชี้เหตุ 7 ตุลาฯ ถือเป็นภัยรุนแรงกว่าภัยพิบัติ เพราะจะฝังไปจิตใจ ถ้ารับมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดตอบโต้รุนแรง แนะนำหลักพุทธศาสนาช่วยเยียวยา ย้ำต้องเยียวยาทั้งประเทศ เพราะทุกฝ่ายได้รับผลกระทบถ้วนทั่ว ขณะที่แพทย์จิตเวชฯ วอนสื่อเลี่ยงเสนอข่าวเฉพาะด้านลบ

ในการสัมมนา วิกฤตจิตใจจากภัย 7 ตุลาฯ การเยียวยาและทางออก จัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ กล่าวว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ขอย้ำว่าเป็นความรุนแรงในแง่ความคิดที่แตกต่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ความรุนแรงที่ปรากฎต่อสื่อต่างๆ ถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติ และมีความรุนแรงมากกว่าภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น สึนามิ น้ำท่วม กาลเวลาสามารถเยียวยาให้หายไปได้ คติทางพุทธศาสนาก็จะคิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ตนเองไม่สามารถเข้าไปแก้ไขอะไรได้ แต่กรณีนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะฝังลงเข้าไปในจิตใจ ในสมอง หากได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบให้มีการตอบโต้อย่างรุนแรง ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับจิตใจ นำหลักพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยเยียวยา อย่าทำบาป มีใจกรุณาและทำบุญจะดีกว่า

ศ.พญ.นงพงา กล่าวย้ำผู้ปกครองอย่าให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือวัยรุ่น บริโภคข่าวสารหรือสื่อมากเกินไป เพราะเด็กเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน เกิดการโน้มน้าวจิตใจได้ง่าย จึงไม่ควรให้บริโภคสื่อหรือกระทำใดๆ ซ้ำๆ ผู้ใหญ่ก็ควรสอบถามจิตใจตนเองให้แน่ชัดว่าสามารถบริโภคข่าวต่อไปไหวอีกหรือไม่ หากรู้สึกว่าไม่สบายใจหรือหดหู่ เครียด ควรหยุดบริโภคทันทีหากิจกรรมอื่นๆ ทำ

“ขอย้ำว่า การเยียวยาต้องเยียวยาทั้งประเทศ เพราะว่าทุกฝ่ายได้รับผลกระทบไปหมด แม้แต่แพทย์จุฬาฯที่ออกมาประกาศจะไม่รักษาตำรวจเมื่อไปเจอฝ่ายตรงข้าม ร้านขายของแถวสามย่านก็ประกาศไม่ขายของให้แพทย์จุฬาฯ ตำรวจเองก็มีความเครียดไ ม่แพ้ประชาชนเพราะต้องปฎิบัติหน้าที่ และตกเป็นจำเลยของสังคมในการแก้ไขปัญหา ทุกฝ่ายต้องย้ำว่าเป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกแยกต้องสู้กันทางความคิด ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด และต้องไม่มีการทำร้ายกัน”ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯกล่าว

ด้าน ผศ.นพ.พนม เกตุมาน หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวขอให้สื่อมวลชนให้ความรู้กับประชาชนในการบริโภคข่าวสารหรือชมเหตุการณ์ และอย่านำเสนอแต่แง่ลบ ควรมีทางออกให้สังคม และอย่าเสนอภาพรุนแรงซ้ำ ๆ ขณะเดียวกันการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ควรใช้หลักจิตวิทยา หากคำถามจะไปกระตุ้นจิตใจก็ควรมีการบรรเทาผู้สัมภาษณ์ไปด้วย หรือมิเช่นนั้น ควรนำจิตแพทย์ เข้ามาร่วมในบทสนทนาด้วย เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและไม่เป็นการซ้ำเติมจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ
กำลังโหลดความคิดเห็น