ความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย นับจากปี 2535 ที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และอนุญาตให้เปิดโรงเรียนนานาชาติได้ในประเทศไทย จำนวนโรงเรียนนานาชาติก็เพิ่มขึ้นตามหัวเมืองใหญ่และเขตกรุงเทพในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีรวดเร็วราวกับดอกเห็ดหน้าฝน
กระแสนี้ส่งผลมายังคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ทั้งหลายที่คาดหวังให้เจ้าตัวเล็กเป็นเด็กเก่ง ฉลาดก้าวล้ำด้านภาษา หวังพึ่งพาอนาคตอันสดใส จึงรีบกุลีกุจอส่งเข้าโรงเรียนอินเตอร์ตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยกโดยพ่อแม่เองก็ไม่มีเวลามากพอที่จะศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละแห่งแต่ละที่ว่ามีข้อดีข้อด้อยอย่างไร เด็กที่สามารถปรับตัวได้ก็ถือว่าดีไป แต่ที่ปรับตัวไม่ได้ก็มีและส่งผลให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาว ดังเรื่องที่จะเล่าสู่ฟังดังต่อไปนี้
การเข้าเรียนโรงเรียนอินเตอร์ของเด็กไทยใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะปัญหาใหญ่อันหนึ่งที่เด็กนักเรียนไทยในโรงเรียนอินเตอร์ต้องประสบคือ ความแตกต่างของสองวัฒนธรรมระหว่างไทยจ๋าในบ้านและวัฒนธรรมตะวันตกที่โรงเรียน เด็กจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวได้ และเกิดภาวะสับสน เกิดความขัดแย้งในตัวเอง รู้สึกหมดคุณค่า ขาดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย เจ็บป่วยทางกาย ปัญหาการเรียน วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างตัวเด็กกับคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่
สำหรับเรื่องนี้ นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยเด็กที่อาจารย์ที่ปรึกษาในโรงเรียนแนะนำให้เข้ามารับการรักษาด้วยปัญหาดังกล่าวมีสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่พบมีขั้นพื้นฐานก็คือ กดดัน ผลการเรียนตก หนีเรียน ก้าวร้าว ซึมเศร้า ซึ่งช่วงอายุที่มีปัญหามากที่สุดน่าจะเป็นพรีทีนถึงวัยรุ่น 11-16 ปี และยิ่งหากเป็นนักเรียนที่ย้ายโรงเรียนกลางคันจากโรงเรียนไทยเข้าอินเตอร์จะยิ่งกดดันทั้งภาษา รูปแบบการเรียนที่แตกต่าง ที่สุดแล้วเด็กก็จะตัดสินใจไม่ได้ว่าเขาจะยืนอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมได้อย่างไร
“ปัญหาที่ต้องรับการแก้ไขคือ ผู้ใหญ่ต้องบอกได้ว่าเด็กกำลังใช้ชีวิตอยู่วัฒนธรรมไหน เพราะเขาหาจุดยืนระหว่างสองวัฒนธรรมไม่ได้เพราะไม่มีคนแนะ ทางโรงเรียนอาจจะพยายามเข้าใจ และแนะนำพ่อแม่ แต่คนที่เป็นปัญหาเองคือพ่อแม่เองที่ไม่ยอมรับในตัวเอง และลูก ได้แต่กล่าวโทษเด็กว่ากลายเป็นฝรั่ง ขณะที่ลูกเองก็ไม่เข้าใจว่าเขาทำผิดอะไร ช่องว่างจึงขยายออกจนกลายเป็นปัญหาในที่สุด”
พญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ ประธานบริหารโรงพยาบาลมนารมย์ บรรยายให้ความรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาโรงเรียนนานาชาติกว่า 70 แห่งว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสองวัฒนธรรมก็คือ ในวัฒนธรรมตะวันตก จะส่งเสริมให้เด็กแสดงออกความคิดความเห็น รักษาสิทธิส่วนบุคคล รักษาผลประโยชน์ของตนเอง เน้นเรื่อง ตัวตนของตัวเอง การแสดงความเชื่อมั่นในตนเอง ความเสมอภาค โดยให้ความสำคัญประเด็นอาวุโสเป็นเรื่องรอง
ในขณะที่วัฒนธรรมไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนับถือ เชื่อฟัง ให้เกียรติผู้อาวุโส ความกตัญญู เกรงอก เกรงใจ เป็นเรื่องกลุ่ม พวกพ้องหรือสถาบันให้อยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง เกรงการกระทบกระเทียบศักดิ์ศรี หน้าตาของผู้อื่น ไม่เน้นเรื่องความเป็นความเป็นตัวของตัวเองมากนัก เพราะถือว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตะวันตก ดังนั้นเด็กที่เรียนอินเตอร์ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยสายตาผู้ใหญ่ไทยๆ จึงดูแข็ง กระด้าง ก้าวร้าว และไม่ได้รับการยอมรับ โอกาสเกิดความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไทยจึงมีสูง
“การจะป้องกันหรือช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จากปัญหาดังกล่าวผู้ที่มีบทบาทสำคัญจึงได้แก่ โรงเรียน และบ้านในส่วนของโรงเรียน ครูผู้สอนและครูที่ปรึกษา ที่เป็นชาวต่างชาติ ควรที่จะทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม และค่านิยมของคนไทย เพื่อจะได้หาจุดที่เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการอบรมเด็ก เพื่อมิให้เกิดแรงกดดันกับเด็กมาจนเกินไป คนไทยเป็นคนรักสนุก ไม่เครียด ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเร่งเรียนมากเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กเล็กแต่ก็ต้องเข้าใจว่านานาชาติก็ไม่ใช่จะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด”
พญ.จันทิมา บอกอีกว่า ในขณะที่อาจารย์ที่ปรึกษาในโรงเรียนนานาชาติวิ่งหาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยและดิ้นหาจิตแพทย์เด็กเพื่อขอคำปรึกษานั้น พ่อแม่เองก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมตะวันตกเช่นเดียวกัน และหาจุดที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย เพราะหากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจว่าลูกจะโตมาอย่างไรในโรงเรียนนานาชาติและคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่ตนเคยเป็นมา ปัญหาก็จะยังไม่หมดสิ้น
“ขอแนะนำพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมตะวันตก หรือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยอย่าส่งลูกไปเรียนนานาชาติ เพราะถ้ากลับบ้านเด็กต้องพูดไทย ไปโรงเรียนพูดอังกฤษ เขาจะเป็นคนที่ภาษาไทยก็ไม่ชัด ภาษาอังกฤษก็แย่และเด็กกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับปัญญาการปรับตัวสูงที่สุด มากกว่ากลุ่มที่พ่อแม่พูดและเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องให้เขาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่างดีเสียก่อนแล้วค่อยส่งนานาชาติ” พญ.จันทิมา แนะนำ
แต่สำหรับนพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น ให้ความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกับพญ.จันทิมา เนื่องจากปัญหาการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้นจะทำให้ปัญหาบานปลาย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ปิดช่องทางสำหรับพ่อแม่ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือได้บ้างไม่ได้บ้างแต่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติยังพอมีทางออก นั่นคือการทำความเข้าใจว่าการส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์นั้นต้องการอะไรกันแน่ หากหวังแค่ภาษาโดยไม่เรียนรู้รูปแบบข้อดีอื่นๆ ก็ “อย่าดีกว่า”
หากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ควรฝึกไปพร้อมๆ กับลูก หรือไม่ก็ต้องหาทางอื่นเช่น หาล่ามแปลเมื่อต้องไปพบอาจารย์ที่ปรึกษา และทำความเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตก ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยให้ลูกด้วย
“พ่อแม่ต้องรู้ว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่เลี้ยงลูก และอย่าคิดว่าตัวเองเป็นลูกค้า โรงเรียนคือลูกจ้างโรงเรียนทุกแห่งไม่ว่าไทยหรือนานาชาติต้องการการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ และนานาชาติแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีทั้งสัญชาติอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ เหล่านี้การสอนก็ไม่เหมือนกันด้วย ดังนั้นก่อนจะส่งลูกไปเรียนอะไรที่ไหนก็ตามต้องศึกษาข้อมูลให้ดี โดยหนทางที่น่าจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือการเยี่ยมโรงเรียน” จิตแพทย์เด็ก แนะนำ
สำหรับตัวแทนอาจารย์ที่ปรึกษาจากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี(RIS) Mr.Robert Conley บอกว่า โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งพยายามที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทยและพยายามที่จะช่วยเหลือเด็กไทยให้ได้มากที่สุด อันที่จริงแล้วเด็กไทยน่ารัก ว่านอนสอนง่าย แม้จะขี้อายอยู่บ้างแต่ไม่เป็นปัญหา เพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนนานาชาติจะช่วยให้เขาเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน และการมีน้ำใจ
“พ่อแม่หลายคนเป็นห่วงพฤติกรรมของลูกกลัวว่าจะเป็นฝรั่งมากเกินไปจึงจำกัดและคาดหวังกับเขา จริงๆ โรงเรียนพยายามเข้าใจวัฒนธรรมไทยและอยากให้พ่อแม่คนไทยมาเยี่ยมโรงเรียนบ่อยๆ จะได้หาทางช่วยเหลือเด็กร่วมกัน และถ้าอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษและปรับตัวได้เร็วต้องพาเข้าเรียนนานาชาติตั้งแต่ยังเด็ก เพราะหากล่วงเลยเข้ามัธยมไปแล้ว เด็กจะยิ่งปรับตัวยาก” อาจารย์ที่ปรึกษาจากร่วมฤดีอธิบาย
ท้ายที่สุด พญ.จันทิมา ให้ข้อคิดว่า หากคาดหวังจากตัวเด็กตัวเล็กๆ ถึงกฎหรือเกณฑ์ต่างๆ ในสังคมไทย ผู้ใหญ่เองอาจตะต้องประเมินความเหมาะสมและเข้าใจความต่างระหว่างวัฒนธรรมเสียก่อน นอกจากนี้ยังต้องประเมินความเหมาะสมตามความเป็นจริงของสังคมวันนี้กับอดีตด้วย ว่าอะไรเปลี่ยนไปเพียงไหนแล้ว บางผู้บางคนเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกดีเกินไป ขณะเดียวกันก็หลงลืมแก่นตัวเอง ปล่อยลูกเป็นฝรั่งหัวดำก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน
...ฉะนั้นถึงเวลาหรือยังที่จะต้องเช็คลิสต์ว่าคุณเป็นพ่อแม่แบบไหน