xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ยันหั่นงบรายหัวไม่กระทบบัตรทอง แต่หากตัดงบ 1,800 ล้าน ยุ่งแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอวินัย” ชี้ ถูกหั่นงบเหมาจ่ายรายหัวไม่กระทบหาก ครม.ไม่เฉือนงบบริหาร 1,800 ล้านบาท เพราะต้องใช้พัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่หากมีคนตกงานแห่ใช้สิทธิบัตรทองเกิน 47.2 ล้านคน เตรียมของบกลางช่วยเหลือทันที
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้เสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2553 จำนวน 2,694 บาทต่อหัวประชากร แต่ ครม.มีมติ อนุมัติให้2,406.32 บาทต่อหัวประชากร โดยเสนอไปทั้งสิ้น 5 กองทุน คือ 1.กองทุนงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 2,694 บาทต่อหัวประชากร 2.กองทุนเอดส์ เสนอขอไป 2,900 ล้านบาท 3.กองทุนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เสนอขอ 1,900 ล้านบาท 4.กองทุนโรคเรื้อรัง เสนอขอ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนทั้ง 4 ได้ถูกรัฐบาลตัดทอนงบประมาณ และ 5.กองทุนด้านบริหารเสนอขอไปจำนวน 1,800 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณา

นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ถูกตัดทอนออกจากที่เสนอไป ประมาณ 300 บาทต่อหัวประชากร ส่วนหนึ่งเป็นงบค่าตอบแทนบุคลากร จำนวน 60 บาทต่อหัวประชาชน ซึ่งส่วนนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาสาธารณสุข (สธ.) จะมีการเสนอของบเพิ่มจาก ครม.ให้ได้คืนมา ซึ่งได้รับรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ในการจัดสรรงบประมาณจะทำได้หรือไม่ ต้องรอให้มีการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากไม่ได้ สธ.ก็จะต้องเสนอของบประมาณส่วนนี้ทดแทน

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการตัดงบส่งเสริมพัฒนาระบบปฐมภูมิ ซึ่งสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ได้ให้เหตุว่าว่า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สธ.เป็นผู้เสนอของบส่วนนี้แทน นอกจากนี้ ยังมีการตัดทอนงบในส่วนที่ สปสช.ได้ประมาณการความจำเป็นในการรักษาพยาบาลในอนาคตของประชาชน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ ความถี่ในการใช้บริการ และจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะเพิ่มขึ้นจากปัญหาว่างงานด้วย ซึ่งหากมีประชาชนมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่าจำนวนที่สปสช. เสนอของบไปคือ เกินกว่า 47.2 ล้านคน สปสช.จะเสนอของบกลางจากรัฐบาลมาช่วยเหลือทันที

“แม้ว่าจะถูกตัดงบด้านรักษาพยาบาล แต่หากรัฐบาลอนุมัติประมาณในส่วนของกองทุนด้านบริหารโครงการให้ได้ตามที่เสนอขอไป 1,800 ล้านบาท ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสุขภาพของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะสปสช.สามารถนำงบประมาณบริหารมาพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การมีเงินกองทุนน้อยไม่เป็นปัญหา เพราะหากมีการบริการจัดการกองทุนดีก็ทำให้กองทุนมีความยั่งยืนได้ แต่หากการบริการจัดการไม่ได้แม้จะมีเงินกองทุนมากก็อาจจะมีปัญหาได้” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า งบบริหารมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งงบส่วนนี้สปสช. จะนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การศึกษาวิจัยการรักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการรักษาโรคที่ถูกต้อง ทำให้คำนวณงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในกองทุนงบเหมาจ่ายรายหัวได้ถูกต้องยิ่งขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลสาธารณสุขของประชากร ระบบตรวจสอบคุณภาพการให้บริการประชาชน เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการรักษา เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้ไม่สามารถนำเงินจากกองทุนงบเหมาจ่ายรายหัวมาใช้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้งบบริหารน้อยมากไม่ถึง ร้อยละ 1 ของบกองทุนเหมาจ่ายรายหัว

“สำหรับงบกองทุนเอดส์ และกองทุนไต ที่ถูกตัดไปเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการใช้นโยบายสิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ทำให้ประหยัดงบประมาณลงได้เยอะ รวมทั้งการตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ สปสช.สามารถเจรจาลดราคาลงมาได้จากครั้งละ 2,000 บาท เหลือ 1,400 บาท รวมถึงลดเป้าหมายผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องได้รับยาลง ส่วนงบประมาณกองทุนไต ถูกตัดทอนในส่วนของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 300 คน ในปี 2552 แต่ขณะนี้ทำได้เพียง 10 ราย ไม่ตรงตามเป้าหมาย ในปี 2553 จึงลดเป้าหมายในส่วนดังกล่าวลง” นพ.วินัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณดูแลโรคเรื้อรัง ซึ่งเสนอขอไป 1,000 ล้าน แต่ได้รับการอนุมัติ 300 ล้านบาท การที่เสนองบประมาณแยกออกมาเพราะโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันสูง เป็นต้นเหตุการป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง หากสามารถคัดกรองเพื่อลดปริมาณการป่วยได้ก็จะทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณการรักษาที่สูง สาเหตุที่ไม่ได้รับงบประมาณตามเป้าหมาย เพราะยังติดปัญหาเรื่องบุคลากรและสถานพยาบาลเพื่อรองรับการทำงาน จึงเลื่อนการดำเนินการมในปีถัดไปแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น