สปสช.เพิ่มค่าชดเชยบริการล้างไตผ่านช่องท้องช่วยประกันความเสี่ยงโรงพยาบาล กระตุ้นจูงใจแพทย์ พยาบาลพัฒนาคุณภาพบริการดีขึ้น ใช้งบกว่า 600 ล้าน เริ่ม 1 พ.ค.นี้ เผยผลดำเนินการโครงการล้างไตผ่านช่องท้องทะลุเป้า ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้กว่า 2,300 ราย ลดอัตราตาย-คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ดีกว่าสิงคโปร์ พร้อมขยายโรงพยาบาลเข้าร่วม 105 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัด ขณะที่อัตราค่าฟอกเลือดสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคแทรกซ้อนจ่อขยับ จาก 1,500 เป็น 1,700 บาทต่อครั้ง
วันที่ 2 เมษายน ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวในการประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ของหน่วยพยาบาลต้นแบบระยะที่ 1 และ 2 ครั้งที่ 5 ว่า ภายหลังจากที่ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์ล้างไตทางช่องท้องให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา จากโรงพยาบาลนำร่อง 23 แห่ง ขณะนี้ได้มีการขยายโรงพยาบาลที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศเกือบทุกจังหวัดแล้วจำนวน 105 แห่ง สามารถให้บริการผู้ป่วยได้กว่า 2,300 ราย ซึ่งช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก ซึ่งเตรียมที่จะขยายโรงพยาบาลให้คลอบคุลมเพิ่มขึ้นรวมถึงฝึกอบรมบุคลกรให้มีความพร้อมด้วย
“ผลสำเร็จของโครงการ ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก จากเดิมที่ตั้งไว้ว่าภายในปีงบประมาณ 2552 จะมีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องในระบบ 3,000 ราย แต่เมื่อเข้าสู่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณก็มีผู้ป่วยกว่า 2,300 ราย สะท้อนว่าจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบมีจำนวนมาก และเมื่อเทียบกับประเทศสิงโปร์พบว่า ผลสำเร็จในการลดอัตราการเสียชีวิต ร่วมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ต่างกันหรืออาจดีกว่าด้วยซ้ำ”นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่อง แนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการบำบัดทดแทนไต ด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการชดเชยค่าบริการ (CAPD) แบบใหม่ โดยสปสช.จะเพิ่มแรงจูงใจในการชดเชยค่าบริการเพื่อประกันความเสี่ยงโดยโรงพยาบาลไม่ต้องแบกรับภาระค่ายาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มค่าตอบแทนตามภาระงานให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องมีกำลังใจในการทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป
“เฉพาะงบประมาณในการล้างไตผ่านทางช่องท้อง จำนวน 2,300 ราย หรือรวมทั้งปีประมาณ 3,000ราย มีค่าใช้จ่ายปีละ 2 แสนบาทต่อราย รวมใช้งบปรมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้รวมค่ายา ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด สำหรับในปีงบประมาณ 2552 มีการตั้งงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ในการบริการการทดแทนไตทั้ง 3 วิธี คือการล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการปลูกถ่ายไต ซึ่งประเทศไทยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังประมาณ 25,000 คน แต่ที่อยู่ในระบบบัตรทองจำนวน 10,000 คน”นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า จากการหารือกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับค่าบริการฟอกเลือด โดยเครื่องไตเทียม มีข้อสรุปร่วมกันว่าจะเพิ่มอัตราค่าบริการฟอกไตสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย จาก 1,500 บาทต่อครั้งเป็น 1,700 บาท เนื่องจากการให้บริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องมีการเตรียมพร้อมบริการห้องฉุกเฉิน (ไอซียู) ด้วย โดยจะนำข้อสรุปดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ เพื่อพิจารณาในเดือนเมษายนนี้และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย 500 บาทต่อครั้ง เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตที่ใช้วิธีการรักษาด้วยการฟอกเลือดประมาณ 6,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 1 ใน 3 หรือ 2,000 คน
รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การเปะเมินผลโครงการฯ ในรอบปีที่ผ่านมาร่วมกับศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสถานพยาบาลระยะที่ 1 จำนวน 23 แห่ง ระยะที่ 2 จำนวน 52 แห่ง พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอยู่ที่ประมาณ 9% ต่อปีซึ่งถือว่าในในมาตรฐานสากล และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าสิงคโปร์ที่มีอัตราการเสียชีวิต 10% ต่อปี
“สปสช.มีโครงการรณรงค์ควบคุมและป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคไตเรื้องรังอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นผลว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้จริง ในอีก5-10ปีข้างหน้า ซึ่งตามอัตราเฉลี่ยทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้องรังจะเพิ่มขึ้นปีละ 10,000ราย ซึ่งอัตราการเกิดโรคไตวายเรื้งรังของไทยในอนาคตมีแนวโน้มน่าจะคงที่ หรือลดลง”รศ.นพ.ทวี กล่าว
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้โรงพยาบาล 23 แห่ง ที่ได้เข้าร่วมการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มโครงการนี้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยโรงพยาบาลทั้ง 23 แห่งถือเป็นโรงพยาบาลนำร่องโดย นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ สำนักตรวจราชการ และสำนักวิชาการ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาหน่วยบริการทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบบริการ รองรับการดำเนินงานตามโครงการ ซึ่งในระยะแรกจะเน้นที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้วย โดยได้จัดอบรมพยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยล้างไตช่องท้องจำนวน 70 คน นับเป็นรุ่นแรกของประเทศ รับรองโดยสภาการพยาบาลเพื่อการให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงบริการมากที่สุด อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น