xs
xsm
sm
md
lg

คลี่หัวใจ “นพ.วินัย สวัสดิวร” กับทุกปัญหาหลักประกันสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผลอแผล็บเดียว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ก้าวสู่ปีที่ 7 แล้ว ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้สร้างหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไทย 47 ล้านคน ให้ได้รับหลักประกันสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม ด้วยระบบการให้บริหารที่ไม่น้อยหน้าระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ของไทย

ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ภายใต้การบริหารงานของ นพ.วินัย สวัสดิวร ซึ่งต้องรับภาระหนักในการดูแลสุขภาพของคนเกือบทั้งประเทศ ต่อจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรกที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

ในวันสบายๆ นพ.วินัย ได้เปิดใจกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงการทำงานในช่วงเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา

“การรับไม้ต่อจากคุณหมอสงวน เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะหมอสงวนเป็นคนที่มีความสามารถสูง เป็นคนดีมีบารมี มีคนรู้จักและให้ความสนใจ นั่นคือ ข้อหนักใจ แต่ข้อสบายใจ คือ หมอสงวน ได้วางรากฐาน ระบบต่างๆ ไว้อย่างดีเยี่ยม ทีมงาน สปสช.ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้งานที่ต้องสานต่อเชื่อมโยงกันได้อย่างสบาย อย่างไรก็ตาม ก็มีความกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับกรณีที่อาจเกิดการเปรียบเทียบระหว่างเลขาฯ คนเก่า และเลขาฯคนใหม่” นพ.วินัย บอกยิ้มๆ

และภายหลังจากลงมือสู้งานหนักตลอด 1 ปี นพ.วินัย มองว่า ภาระงานต่างๆ ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน มีเรื่องอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถึงแม้ประชาชนจะมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติการเข้าถึงบริการจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญ เนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากร ทำให้บุคลากรที่ให้บริการไม่เหมาะสมกับภาระงาน ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดสิทธิประโยชน์เรื่องไตวาย ผู้ป่วยไตวายเรื้องรังสามารถฟอกเลือดหรือเปลี่ยนไตได้ จึงถือว่ามีสิทธิเต็มที่ แต่การเข้าถึงกลับยังคงเป็นปัญหา

นพ.วินัย อธิบายเพิ่มว่า ขณะนี้การมีสิทธิกับการเข้าถึงยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการมีระบบบริการที่ดีจะต้องมีบุคลากร มีการวางระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น การรักษามะเร็ง หัวใจ ก็ต้องมีแพทย์เฉพาะทาง หรือการมีระบบปฐมภูมิที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม แต่ละเรื่องไม่ใช่ สปสช.สามารถทำคนเดียวได้ เช่น การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ การกระจายบุคลากร ฯลฯ เป็นเรื่องนอกเหนือจากสิ่งที่ สปสช.รับผิดชอบทั้งหมดโดยตรง แต่ก็ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยเพราะปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยากที่จะต้องทำ โดยที่ผ่านมา สปสช.จะใช้วิธีพยายามกระตุ้น ผลักดัน ส่งเสริม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

“ในโรงพยาบาลเล็กๆ มีหมออยู่เวรคนเดียวก็ไม่ไหว หากมีผู้ป่วยที่เป็นโรคไต มะเร็ง ผ่าตัดฉายแสง ผ่าตัดสมอง เส้นเลือดแตก ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แต่กว่าจะหาเตียงได้เป็นเรื่องยากลำบากมาก ต้องอาศัยการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรในโรคที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือที่มีความพร้อม โรงพยาบาลรัฐบางแห่งจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียงในพื้นที่ในการส่งต่อเพื่อรักษาคนไข้ ถือเป็นข้อจำกัดที่ปัญหาระบบบริการที่ไม่สามารถรองรับความต้องการได้” นพ.วินัย ให้ภาพของปัญหาใหญ่ในระบบสาธารณสุข

เลขาธิการ สปสช.บอกอีกว่า จะเห็นว่า ปัญหามันโยงใยเชื่อมโยงกระทบถึงกันไปหมด รวมถึงนโยบายเมดิคอลฮับ หรือศูนย์การแพทย์ในภูมิภาค โดยการดำเนินการนโยบายนี้จำเป็นต้องหันมามองคนไทยด้วยว่า หากผลักดันเมดิคอลฮับให้ต่างชาติมารักษาที่ไทยมากขึ้น จะต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรกับการขาดหมอในโรงพยาบาลอำเภอ

ขณะที่ปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสุขภาพมาโดยตลอด แต่ปัจจุบัน นพ.วินัย มองว่า เรื่องงบประมาณ น่าจะเพียงพอ กับการให้บริการประชาชน เพราะตอนนี้ถึงจะมีเงินมากขึ้นเท่าไร่แต่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถจัดบริการได้มากขึ้น เพราะจำนวนบุคลากรที่จำนวนเท่าเดิม ทุกวันนี้การให้บริการของผู้ให้บริการถือว่าเต็มกำลังแล้ว แม้ความต้องการรับบริการมีมากขึ้น แต่โรงพยาบาลก็เต็มพิกัดแล้ว ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดนี้ การเพิ่มเงินเท่าตัวก็ให้บริการเพิ่มเท่าตัวไม่ได้

“ในมุมมองของหน่วยบริการงบประมาณที่ได้รับจึงน่าจะพอ แต่หากเราสามารถขยายบริการเพิ่มขึ้น มีหมอ พยาบาล เพิ่มขึ้น เงินก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการผลิตบุคลากรและรักษาบุคลากรเหล่านั้นให้อยู่ในระบบด้วย ปัญหาในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว การเพิ่มเงินเหมาจ่ายรายหัวเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางแก้ระบบสาธารณสุขอย่างแน่นอน สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ เพิ่มจำนวนแพทย์ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการที่ดีขึ้นได้ โดยการประกาศเป็นวาระชาติ มีการแก้ไขกันอย่างครบวงจร

นพ.วินัย บอกถึงความคาดหวังและความตั้งใจในการทำงาน เมื่อก้าวสู่ปีที่ 7 ว่า สปสช.จะเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหัวใจของระบบสาธารณสุข เพื่อประชาชนมีสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ที่เป็นหน่วยบริการประจำของครอบครัวอย่างแท้จริง พัฒนาระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ง่าย และสะดวก เป็นระบบส่งต่อที่ไม่ปล่อยให้คนไข้หรือญาติต้องเคว้งคว้าง รวมทั้งการวางระบบการส่งเสริมป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง โดยพยายามวางระบบบูรณาการให้สมบูรณ์ในทุกระดับ และมุ่งเน้นการบริหาร สปสช.ให้เป็นองค์กรโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่จิ๋วแต่แจ๋ว เพื่อการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น