xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวินัย” นัดแจงค่าล้างไต 1,500 บาท ชี้ไม่ได้กดราคา หวัง รพ.เอกชนยอมเปลี่ยนทัศนคติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอวินัย” นัดเคลียร์ “หมอเอื้อชาติ” แจงที่มาค่าล้างไต 1,500 บาท มีหลักฐานอ้างอิง ไม่ได้กดราคา บีบ รพ.เอกชน ยันยังไม่คิดปลดออกจากบอร์ด สปสช.แค่ต้องการแก้ไขเพื่อให้งานเดินหน้า ให้ผู้ป่วยไตวายได้รับสิทธิประโยชน์ขณะที่แพทย์เสนอคำนวณค่ากลางต้นทุนฟอกเลือดใหม่

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับ นพ.เอื้อชาติ เพื่อนัดหารือ ชี้แจงข้อเท็จจริง และรายละเอียดทั้งหมดของโครงการล้างไตด้วยการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม ของ สปสช.ที่มีทีมแพทย์ นักวิชาการ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ความเหมาะสมโครงการ งบประมาณ และการกำหนดราคาตามความเป็นจริง ซึ่งมีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการประกอบการพิจารณาครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าบริการที่ได้กำหนดไว้ครั้งละ 1,500 บาท จะจำแนกรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้เห็นอย่างชัดเจน

“อยากให้ นพ.เอื้อชาติ ได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของ สปสช.เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และยินดีเข้าร่วมโครงการนี้อย่างเต็มใจ ไม่ใช่เป็นการเข้าใจผิดคิดว่า สปสช.จะมาบีบบังคับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรื่องนี้ สปสช.ไม่ได้ตั้งราคาค่าบริการฟอกเลือดมาแบบลอยๆ ไม่ได้กดราคาให้ถูกลง แต่ทุกอย่างมีข้อมูลวิชาการอ้างอิงได้ อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าหลังจากการพูดคุยแล้ว นพ.เอื้อชาติ จะเข้าใจ และยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือพฤติกรรมหรือไม่” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช.ได้มอบหมายให้สำนักงานกฎหมาย ของสปสช. พิจารณาด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการดำเนินการของ นพ.เอื้อชาติ ที่มีตำแหน่งเป็นบอร์ด สปสช. แต่กลับคัดค้านโครงการสิทธิประโยชน์ของ สปสช.เอง ว่า จะมีความผิดในเรื่องใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ยังไม่ได้มีการพิจารณาถึงการปลด นพ.เอื้อชาติ ออกจากตำแหน่งบอร์ด สปสช.แต่เป็นการพิจาณาเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด เพื่อให้การดำเนินโครงการสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยในระบบบัตรทอง

ด้าน นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำสำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะทำงานการศึกษาต้นทุนการล้างไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กล่าวว่า เมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่แล้วได้มีการวิเคราะห์ต้นทุนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้ว พบว่า การฟอกเลือดแต่ละครั้งราคาอาจอยู่ที่ประมาณ 1,200-2,000 บาท แต่อัตราที่มีประสิทธิภาพต่อการให้บริการที่ดีและคุ้มค่าอยู่ที่ 1,500 บาท

“ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือด 1,500 บาท เป็นการคำนวณตามอัตราการใช้เครื่องไตเทียมฟอกเลือดมาก ราคาการฟอกเลือดต่อครั้งก็จะถูกลง คือ หากใช้เครื่องไตเทียมวันละ 1 รอบ ขณะที่เมื่อเวลาผ่านไป 4-5 ปี คำนวณค่าเสื่อมสภาพของเครื่องแล้วมีการใช้เครื่องน้อยก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดแพง แทนที่จะใช้วันละ 3 รอบ ต่อ 1 เครื่อง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่ใช้ได้มากที่สุดต่อเครื่อง และเมื่อใช้งานเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ ต้นทุนในการฟอกเลือดถูกลง ดังนั้น ราคาต้นทุนการฟอกเลือดจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลใช้งานเครื่องมือได้มีประสิทธิภาพหรือไม่” นพ.วิชช์ กล่าว

เมื่อถามว่า การฟอดเลือดในอัตรา 1,500 บาท สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ หรือเป็นราคากลางที่นำมาใช้ทั้งกับโรงพยาบาลรัฐและโรคพยาบาลเอกชนได้หรือไม่ นพ.วิชช์ กล่าวว่า กรณีของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดต่อครั้งในราคาแพงกว่านี้ ก็สามารถเป็นไปได้ เพราะเมื่อซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีราคาแพงก็คิดราคาค่าใช้จ่ายแพงตามไปด้วย ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาโรงพยาบาลเอกชนไม่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช.ก็สามารถคำนวณหาต้นทุนการฟอกเลือดในอัตราใหม่ที่มีความเป็นกลางได้ทันที โดยนำข้อมูลมาจากมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ต้นทุนที่แท้จริงในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพียงแต่โรงพยาบาลเอกชนจะให้ข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผย

“เมื่อมีปัญหาแบบนี้ก็คำนวณราคากลางใหม่เลย แต่ยืนยันว่าราคา 1,500 บาท เป็นอัตราที่นำมาอ้างอิงได้ แม้ว่าทำการวิเคราะห์มานาน 4-5 ปีแล้ว แต่ราคาต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ไม่ได้ขยับเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด เพราะหากโรงพยาบาลต้องการกำไร อัตราค่าใช้จ่ายฟอกเลือด 1,500 บาทต่อครั้ง อาจทำให้อยู่ไม่ได้ ซึ่งเขาก็มีสิทธิที่จะบอก แต่หากจะศึกษาใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอคติหรือไม่” นพ.วิชช์ กล่าว

นพ.วิชช์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อัตราค่าบริการ 1,500 บาท ไม่ส่งผลทำให้การให้บริการไม่มีประสิทธิภาพตามที่โรงพยาบาลเอกชนกล่าวอ้าง เนื่องจากประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับการให้บริการของโรงพยาบาลมากกว่า และผู้ซื้อบริการจะต้องมีระบบในการตรวจสอบคุณภาพเป็นระยะๆ หากไม่มีการตรวจสอบก็บอกไม่ได้ว่า การให้บริการมีประสิทธิภาพมากดีน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่ค่าบริการแพงแต่ให้บริการไม่มีประสิทธิภาพก็มีให้เห็นอยู่ แต่ยอมรับว่า การใช้จ่ายในอัตรา 1,500 บาท อาจทำให้บุคลากรต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมเพราะต้องใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนสะท้อนออกมาอาจเป็นเพราะในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น