xs
xsm
sm
md
lg

มติ สปสช.จ่ายเพิ่มฟอกไต เตรียมดึงเอกชนลงทุน รพ.ไม่ต้องซื้อเครื่องฟอกเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติบอร์ด สปสช.จ่ายค่าฟอกไตผู้สูงอายุให้สถานพยาบาลเพิ่ม ครั้งละ 1,700 จากเดิม 1,500 ผู้ป่วยร่วมจ่ายเท่าเดิม 500 บาท เริ่ม มิ.ย.นี้เตรียมศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุน รพ.ไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องฟอกเลือด ค่าบริการเท่ากับของรัฐ ฝันอนาคตประชาชนอาจไม่ต้องจ่ายร่วม

วันที่ 25 พฤษภาคม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีมติเห็นด้วยให้เพิ่มอัตราค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ จากเดิมครั้งละ 1,500 บาท เป็นครั้งละ 1,700 บาท เนื่องจากการให้บริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องมีการเตรียมพร้อมบริการห้องฉุกเฉิน (ไอซียู) ด้วย โดยประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย 500 บาทต่อครั้งเช่นเดิม ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกเลือดประมาณ 6 พันคนในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 2 พันคน โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้

“นอกจากนี้ จะขยายศูนย์การให้บริการฟอกไตเพิ่มขึ้น แต่กว่าจะพัฒนาศูนย์บริการได้ต้องใช้เวลานาน จึงเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบการให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนกับโรงพยาบาลที่เชียงราย โดยให้ผู้จัดจำหน่ายเครื่องฟอกไตนำเครื่องมาติดตั้งในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีพื้นที่และมีผู้ป่วยที่แน่นอนอยู่แล้ว ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง แล้วเก็บค่าบริการ 1,500 บาทต่อครั้ง อัตราเดียวกันกับภาครัฐ และเพิ่มค่าบริการของเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาลเป็นพิเศษ ทางบริษัทเอกชนก็จะได้ค่าเครื่องฟอกไตจากการรับบริการด้วย ทั้งนี้ ในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยอาจไม่ต้องออกค่าบริการฟอกไตเลย เพราะ สปสช.สามารถออกค่าบริหารฟอกไตให้ทั้งหมด” นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังมีแนวทางการพัฒนาระบบบริการทดแทนไต โดยเน้นไปที่การล้างไตทางช่องท้องและการปลูกถ่ายไตเป็นหลัก ตั้งเป้าหมายภายในปี 2555 ให้มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด ปัจจุบันในปี 2552 มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องกว่า 2,300 ราย จากเดิมที่ตั้งเป้าให้มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องในระบบ 3,000 ราย แต่เมื่อเข้าสู่ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณกลับมีผู้ป่วยกว่า 2,300 ราย สะท้อนว่า จำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่ระบบมีจำนวนมาก

ด้านนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การเน้นวิธีการล้างไตทางช่องท้องนั้น เป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด ผู้ป่วยทำเองได้ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดของ รพ.ไม่ต้องมารอคิวฟอกเลือดที่ รพ. เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของระบบสาธารณสุขไทยที่ผู้ให้บริการมีน้อยกว่าผู้รับบริการ ซึ่งจากการประเมินผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสถานพยาบาลระยะที่ 1 จำนวน 23 แห่ง ระยะที่ 2 จำนวน 52 แห่ง พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ต่อปี ซึ่งอยู่ในมาตรฐานสากล และถือเป็นอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าสิงคโปร์ที่มีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 10 ต่อปี

“สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น จะให้ดำเนินการบริการทดแทนไต ควบคู่กับการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไตวาย พัฒนาระบบบริการทดแทนไตให้มีมากเพียงพอ ได้มาตรฐาน เป็นธรรมในการเข้าถึง รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสังคมมีส่วนร่วมการดำเนินการ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวในการฟอกเลือดด้วยเครื่องนั้นจากเดิมครั้งละ 1,500 บาท โดย สปสช.ออกค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการที่เข้าร่วมครั้งละ 1,000 บาทผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเอง 500 บาท ขณะที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและกรมการแพทย์ สธ.ได้เสนอที่ราคาครั้งละ 1,700-2,000 บาท และระบบประกันสังคมให้ชดเชยที่ 1,500 บาท/ครั้ง โดย รพ.เก็บส่วนเกินเพิ่มจากผู้ป่วยได้ ซึ่งทั่วไปเก็บที่ 1,700 บาท/ครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น