บอร์ด สปสช.ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีสมาคม รพ.เอกชนออกหนังสือเวียนไม่ร่วมโครงการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวาย ฝ่ายกฎหมายชี้ “หมอเอื้อชาติ-หมอเฉลิม” เข้าข่ายบกพร่องต่อหน้าที่ กม.กีดกันการค้า ขณะที่ “เหลิม” ถือหางไม่อยากเอาผิด ยกต้องสามัคคี สมานฉันท์ คงไม่ปลดเพราะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ
วานนี้ (13 ต.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายต่อกรณี นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคม รพ.เอกชน และประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของ สปสช. นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เลขาธิการ รพ.เอกชนได้ออกหนังสือเวียนของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่แจ้ง รพ.เอกชนไม่ให้เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการฟอกเลือดกับ สปสช.ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ชมรมเพื่อนโรคไตมีหนังสือถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช.เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับกรรมการที่ปรากฏชื่อด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ สปสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีคณะกรรมการ 7 คน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะเรื่องค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ว่า มีราคาที่เหมาะสมเป็นอย่างไร เพราะมีข้อโต้เถียงระหว่าง สปสช. สธ. ที่กำหนดค่าบริการฟอกเลือกครั้วละ 1,500 บาท ขณะที่ของโรงพยาบาลเอกชนครั้งละ 1,700-2,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากสุดท้าย รพ.เอกชน ยังไม่เข้าร่วมโครงการของ สปสช.อีก ตนจะแก้ปัญหาด้วยการประกาศเป็นนโยบายของ สธ.ให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง คิดค่าบริการฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท
“การตรวจสอบคงจะไม่มีการเอาผิดหรือลงโทษนพ.เอื้อชาติและพวก เพราะผมอยากให้เน้นเรื่องความสามัคคี สมานฉันท์มากกว่า และคงยังไม่คิดไปไกลถึงกับจะต้องปลด นพ.เอื้อชาติ ออกจากคณะกรรมการ สปสช.ด้วย เพราะถือเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ หากปลดออกไปจะให้ใครมาแทน ส่วนการให้บริการฟอกเลือดกับผู้ป่วยโรคไตนั้น ผมยังหวังให้ รพ.เอกชน เข้าร่วมโครงการอยู่ ดังนั้น จะให้ สปสช.เป็นผู้นัดเจรจากับรพ.เอกชนอีกครั้ง” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ที่ปรึกษากฎหมายของ สปสช.มีความเห็นว่าการดำเนินการของนพ.เอื้อชาติ และพวก อาจเข้าข่ายตามมาตรา 16 (6) ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องการบกพร่องต่อหน้าที่ และอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เช่น กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ขณะที่ความเห็นของคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ มีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจมีผลโดยตรงต่อการเข้าถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมของผู้มีสิทธิ จึงได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณา ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการการสรรหาประธานคณะกรรมการ